วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“ภัยธรรมชาติ” คร่าประชากรโลก 22,000 คนในปี 2013 “ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” แชมป์มฤตยู

      เอเอฟพี – ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 22,000 คนในปีที่แล้ว โดยไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดถล่มหมู่เกาะฟิลิปปินส์ถือเป็นมหันตภัยร้ายแรงที่สุดในรอบปี สภากาชาดแถลงในวันนี้(16)
       
       รายงานประจำปีว่าด้วยภัยธรรมชาติซึ่งออกโดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ได้เตือนว่า ภาพรวมผลกระทบจากภัยธรรมชาติยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล
       
       “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตความเป็นอยู่และความเปราะบางที่สูงขึ้น ภัยธรรมชาติเหล่านี้ยังเกิดบ่อย และรุนแรงมากกว่าเดิมด้วย” เอลฮัดญ์ แอส ซี ประธาน IFRC แถลง
       
       “ผลกระทบที่มีต่อสังคม กายภาพ และเศรษฐกิจ กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไปสู่ยุคสมัยแห่งความเสี่ยง”
       
       ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนซึ่งพัดถล่มหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้ก่อให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งอย่างรุนแรงที่เมืองตาโกลบันและชุมชนโดยรอบในจังหวัดเลย์เต ทางภาคตะวันออกของแดนตากาล็อก กลืนกินชีวิตพลเมืองฟิลิปปินส์ไปอย่างน้อย 7,986 ราย และได้ชื่อว่าเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยจดบันทึกมา ตามข้อมูลจาก IFRC
       
       ภัยพิบัติที่เลวร้ายรองลงมา ได้แก่ ฤดูมุรสุมในอินเดียเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2013 ซึ่งได้คร่าชีวิตประชาชนไป 6,054 คน
       
       โดยสรุปแล้ว ภัยธรรมชาติในปี 2013 ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 22,452 คน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 97,954 คนในช่วงปี 2004-2013
       
       ตัวเลขปี 2013 ยังเทียบไม่ได้กับเมื่อปี 2004 ซึ่งมีผู้คนสังเวยชีวิตให้กับภัยธรรมชาติไปมากถึง 242,829 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชุมชนชายฝั่งหลายประเทศ
       
       ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปี 2013 อยู่ที่เกือบๆ 100 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นพลเมืองแถบเอเชีย และเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
       
       อย่างไรก็ดี เทอร์รี แคนนอน บรรณาธิการผู้เรียบเรียงรายงานชิ้นนี้เตือนว่า ยอดผู้เสียชีวิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น
       
       “ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดขึ้นแบบสุ่ม ดังนั้น การเปรียบเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตแบบปีต่อปีจึงไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เหมาะสม” เขาอธิบาย
       
       กระนั้นก็ดี สิ่งที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตบอกได้ก็คือ ศักยภาพของแต่ละประเทศในการลดความสูญเสีย ตัวอย่างเช่น เมื่อพายุไซโคลนไพลินพัดถล่มอินเดียในเดือนตุลาคม ปี 2013 มีผู้เสียชีวิตไปเพียง 36 คน ในขณะที่อีกหลายพันคนรอดชีวิต นั่นก็เพราะว่ารัฐบาลได้ตระเตรียมแผนป้องกันความเสี่ยงและอพยพประชาชนล่วงหน้า ซึ่งมาตรการเดียวกันนี้ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง เมื่อไซโคลนฮุดฮุดพัดเข้าสู่ดินแดนอนุทวีปในสัปดาห์นี้
       
       สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการขยายตัวของประชากรและความเป็นเมืองในประเทศกำลังพัฒนา คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเมืองต้องเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเก็บกักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศกำลังเป็นสาเหตุให้สภาพอากาศโลกแปรปรวนสุดขั้ว
       
       แคนนอน ชี้ว่า นอกจากเตรียมแผนลดความเสี่ยงแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงด้วย
       
       “คนส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตหรือเผชิญความยากลำบากเพราะภัยธรรมชาติ แต่พวกเขาลำบากเพราะปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ความสะอาดของน้ำที่ใช้บริโภค, ภาวะทุพโภชนาการ หรือปัญหาสุขภาพ… พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับภัยธรรมชาติเป็นอันดับต้นๆ แต่จะใส่ใจกับปัญหาอื่นๆ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ, มาลาเรีย, น้ำกินน้ำใช้, อาหาร หรืออาชีพการงานมากกว่า”
       
       รายงานของ IFRC ระบุว่า ภัยธรรมชาติในปี 2013 ก่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 119,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยเป็นอันดับ 4 ในรอบ 10 ปี แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงทั้งหมดเช่นกัน เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะต้องสูญเสียมากกว่าจากภัยพิบัติแต่ละครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและระบบประกันภัยที่ครอบคลุมมากกว่า ตัวอย่างเช่น เมื่อญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 มูลค่าความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกในปีนั้นพุ่งไปถึง 391,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://www.ifrc.org/world-disasters-report-2014
rc-16-10-2014
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น