วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศส “ฌอง ติโรล” ได้รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้

        เอเอฟพี – นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ฌอง ติโรล ได้รับการประกาศเมื่อวันจันทร์ (13 ต.ค.) ว่าเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ จากผลงานระดับบุกเบิกการศึกษาใหม่ๆ ในเรื่องอำนาจของพวกบริษัทใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมประเภทสำคัญๆ 
       
       คณะกรรมการตัดสินรางวัลระบุในประกาศมอบรางวัลว่า ผลการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์วัย 61 ปี แห่งมหาวิทยาลัย ตูลูส 1 กาปิโตล ผู้นี้ เป็นการวางกรอบโครงให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถดำเนินการกำกับตรวจสอบพวกวิสาหกิจขนาดใหญ่ๆ รายสำคัญๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ ติโรล กลายเป็น “หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคสมัยของเรา”
       
       “สิ่งซึ่งสำคัญกว่าอะไรอื่น ก็คือ เขาอธิบายให้เห็นอย่างกระจ่างชัดเจนว่าควรใช้วิธีการอย่างไรในการทำความเข้าใจและในการจัดวางระเบียบกำกับตรวจสอบพวกอุตสาหกรรม ที่มีกิจการทรงอิทธิพลไม่กี่รายครอบงำอยู่” ประกาศมอบรางวัลแจกแจง
       
       การที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการณ์ในภาคการเงิน โดยที่วิกฤตดังกล่าวนี้มีชนวนมาจากพวกผู้เล่นรายยักษ์จำนวนหยิบมือเดียวในภาคการเงินการธนาคาร ยิ่งทำให้ประเด็นปัญหาอันยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องการปรับปรุงยกระดับการจัดวางระเบียบกำกับตรวจสอบกิจการเหล่านี้ กลายเป็นวาระสำหรับพวกผู้วางนโยบายในทั่วโลก
       
       ในเรื่องนี้ ติโรลระบุว่า “ภาคการธนาคารเป็นภาคที่จัดวางระเบียบกำกับตรวจสอบได้ลำบากมาก และพวกเรานักเศรษฐศาสตร์จะต้องทำงานในด้านนี้ให้มากขึ้น” เขากล่าวกับคณะกรรมการตัดสินรางวัล ภายหลังได้รับแจ้งว่าเขาเป็นผู้ชนะในปีนี้ และได้รับรางวัลที่มีมูลค่า 8 ล้านโครน สวีเดน (ราว 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
       
       ตลาดที่เสรียิ่งขึ้น และกิจการที่ใหญ่โตมากขึ้น
       
       ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา พวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าได้หันไปใช้นโยบายที่ปล่อยให้ตลาดแสดงบทบาทเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่ก็ทำให้บริษัทใหญ่จำนวนหนึ่งสามารถรวมศูนย์อำนาจกิจการ ในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ทรงความสำคัญ
       
       แนวโน้มดังกล่าวยิ่งเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีก โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี และกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ดำเนินไปอย่างลึกซึ้งกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความมั่งคั่งอย่างชนิดไม่เคยมีมาก่อน ทว่าก็ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมอย่างล้นพ้นด้วยเช่นกัน
       
       ตามประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัล คุณูปการอันสำคัญที่สุดประการหนึ่งของ ติโรล ก็คือ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่ว่า ในอุตสาหกรรมต่างประเภทกัน ภาวะการครอบงำตลาดจะส่งผลที่แตกต่างกัน
       
       ประกาศนี้ชี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายการแข่งขัน หรือกฎหมายต่อต้านการผูกขาด จะลงโทษพฤติการณ์การตัดราคา เพราะมองว่าการตั้งราคาจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิตนั้น คือวิธีการอย่างหนึ่งในการกำจัดคู่แข่งขัน ทว่า ติโรล ชี้ว่า นี่ไม่ใช่ว่าถูกต้องเป็นจริงไปทั้งหมดในทุกๆ ตลาด
       
       ตัวอย่างเช่น ในตลาดหนังสือพิมพ์ การออกหนังสือพิมพ์แจกฟรี สามารถที่จะเป็นวิธีการหนึ่งในการดึงดูดผู้อ่าน และดังนั้นก็มีโอกาสที่จะได้โฆษณาใหม่ๆ ซึ่งอาจชดเชยการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการนำออกมาแจกจ่าย
       
       “ในกรณีนี้ จึงทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ควรที่จะห้ามปรามการตัดราคาหรือไม่” ประกาศของคณะกรรมการกล่าว
       
       “ด้วยเหตุนี้เอง นโยบายในเรื่องการจัดวางระเบียบกำกับตรวจสอบที่ดีที่สุด หรือนโยบายเรื่องการแข่งขันที่ดีที่สุด จึงควรที่จะต้องประยุกต์อย่างระมัดระวัง ให้เข้ากับเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ของทุกๆ อุตสาหกรรม”
       
       การศึกษาวิจัยของ ติโรล ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า บริษัทบางแห่ง ตัวอย่างเช่น พวกผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่จดลิขสิทธิ์ทว่ามีผู้ใช้กันอย่างกว้างขวาง สามารถที่เข้าจะครอบงำไม่เพียงในอุตสาหกรรมของพวกเขาเองเท่านั้น หากแต่ยังพวกอุตสาหกรรมข้างเคียง ที่อยู่ต่อเนื่องลงไปในสายการผลิตอีกด้วย
       
       “ถ้าหากนวัตกรรมดังกล่าว ถูกขายให้แก่กิจการเพียงรายเดียว กิจการรายนั้นจะสามารถทำกำไรได้สูง เนื่องจากตนเองจะกลายเป็นกิจการที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งพวกพวกคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ผลิตนวัตกรรมดังกล่าวขึ้นมา จึงสามารถตั้งราคาของเขาได้สูงขึ้นอย่างมาก” ประกาศของคณะกรรมการบอก
       
       ประกาศยังระบุว่า ผลงานของติโรล เป็นการให้กรอบโครงแก่รัฐบาลและผู้วางนโยบายทั้งหลาย ในการกำหนดนโยบายสำหรับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ จำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ การสื่อสาร ไปจนถึงการธนาคาร
       
       “โดยอาศัยความเข้าใจอันลึกซึ้งใหม่ๆ เหล่านี้ รัฐบาลต่างๆ ก็มีความสามารถเพิ่มขึ้นมากในการส่งเสริมสนับสนุนพวกกิจการทรงอำนาจทั้งหลาย ให้มีผลิตภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันนั้นก็ป้องกันไม่ให้กิจการเหล่านี้ไปสร้างอันตรายให้แก่พวกคู่แข่งขันและบรรดาลูกค้า” 

ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น