วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ประหยัดตอนนอน

จั่วหัวเรื่องแบบนี้ผู้อ่านอาจจะงงว่ามันประหยัดอะไรของมันตอนนอนหว่า?  ประหยัดไฟหรืออย่างไร  ใจเย็น ๆ อ่านไปก่อนก็จะได้คำตอบเอง
ว่าแต่ว่าผู้อ่าน “ชาวไทย” ชอบเดินทางท่องเที่ยวกันไหม  ตัวผู้เขียนเองชอบการเดินทางมาก  ยิ่งได้ผจญภัยหน่อย ๆ ยิ่งดี  สมัยที่เด็ก ๆ ยังเล็ก ๆ กันอยู่นั้น  เวลาไปเที่ยวกันทีมักอาศัยบริการแบบเหมารวม (Pauschalreise) ที่รวมค่าเดินทาง ที่พักและอาหาร  แต่พอเด็ก ๆ เริ่มโตขึ้นก็เริ่มขยับขยายไปใช้บริการบ้านพักเยาวชน (Jugendherberg) แคมปิงหรือบ้านพักตากอากาศ (Ferienhaus)  แต่หลังการเติบโตของสายการบินราคาประหยัด (Low Cost Airline)  การวางแผนการเดินทางเองโดยไม่ต้องอาศัยตัวแทนท่องเที่ยวทำได้ง่ายขึ้นมาก  ยิ่งตั้งแต่ปี ๒๐๑๓ ที่รถโดยสารทางไกลได้รับอนุญาตให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองต่างๆ การเดินทางก็ยิ่งมีตัวเลือกมากขึ้น  หมดปัญหาเรื่องยานพาหนะ  ทีนี้ก็เหลือเรื่องที่พัก  ซึ่งในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ผู้เขียนมักเน้นห้องแบ่งเช่าของเอกชน (Private Zimmer) เป็นหลัก  เนื่องจากชอบความรู้สึกที่เหมือนได้อยู่บ้าน ได้รู้จักผู้คนใหม่ ๆ ซึ่งโรงแรมไม่มีให้และยังได้ประหยัดมากกว่าด้วย
ห้องลักษณะนี้มักอยู่ในบ้านของครอบครัวที่ลูก ๆ เติบโตแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว  จึงมีห้องเหลือหรือคู่สมรสที่ยังไม่มีลูกหรือนักศึกษาที่กลับไปอยู่บ้านหรือไปเที่ยวที่อื่นช่วงปิดเทอม  จึงเอาห้องให้เช่าแทนการทิ้งว่างไว้  เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย  ตั้งแต่พักมาหลายที่หลายเมืองผู้เขียนมีแต่ประสบการณ์ที่ดี  เจ้าของบ้านอัธยาศัยดี เป็นมิตร พร้อมให้ความช่วยเหลือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหรือบอกเล่าเรื่องราวของเมือง  ผู้เขียนจึงมักแนะนำเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักให้ใช้บริการนี้  แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ  ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าไม่ไว้ใจในเรื่องความสะดวกสบาย  การไม่รู้จะเสาะหาที่พักแบบนี้ได้อย่างไร  ซึ่งจริง ๆ แล้วในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างทุกวันนี้เป็นเรื่องสะดวกง่ายดายมาก  เพิ่งอ่านเจอในนิตยสารของ “ADAC” ฉบับประจำเดือนกันยายน ๒๐๑๔ ว่าห้องพักเอกชนแบบนี้กำลังอยู่ในแนวโน้ม (โอหะ เรามีพวกแล้ว เยๆๆ)  จากการสอบถามของ “Bitkom” ชาวเยอรมันราว ๓ ล้านคนได้ใช้บริการนี้หรือเท่ากับ ๕% ของพลเมืองผู้ใหญ่  อีก ๒๗% สามารถนึกภาพออกว่าในอนาคตจะเช่าที่อยู่แบบโฮมสเตย์
ตามข้อมูลของ ADAC การประหยัดในเมืองใหญ่ ๆ มหาศาลมาก  ตามการศึกษาของ HRS ผู้ที่หาที่พักค้างคืนในโรงแรมที่ซูริค ซึ่งราคาค่าที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวสูงที่สุดในยุโรป จ่ายเฉลี่ย ๑๔๔.๔๓ ยูโรต่อคืน  ผู้ที่จองที่พักตามบ้านหรือที่เรียกว่า “โฮมสเตย์” จะหาห้องได้ในราคา ๓๕-๕๐ ยูโรหรือประหยัดไปได้ถึง ๗๕%  มันยังเป็นทางเลือกที่ประหยัดระหว่างมีงานเทศกาลได้อีกด้วย เช่น ระหว่างงานแสดงสินค้าหรือออคโตเบอร์เฟสต์ที่มืนเช่น  สำหรับช่วงเวลานี้โรงแรมในเมืองส่วนใหญ่จะถูกจองล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ  ผู้ที่สามารถหาที่พักว่างได้ก็ต้องจ่ายราคาเพิ่มสูงอย่างน่ากลัว ตัวอย่างเช่น ห้องคู่ที่โรงแรม Ibis City ที่มืนเช่นระหว่างเทศกาลออคโตเบอร์เฟสต์ ๒ คืนมีราคา ๒๗๙ ยูโร เพียง ๔ สัปดาห์ภายหลังสามารถพักได้ในราคา ๘๐ ยูโร
จนถึงปัจจุบันในการหาที่พักผู้เขียนมักใช้บริการของ Airbnb, Wimdu และ 9flats (นี่โฆษณาให้โดยไม่คิดสตางค์เชียวนะ) ตามข้อมูลของ Airbnb ที่เป็นผู้นำตลาดจะมีบริการที่พักใน ๑๙๐ ประเทศและมากกว่า ๓๔,๐๐๐ เมืองในทุกระดับราคา  นับตั้งแต่ก่อตั้งในเดือนสิงหาคม ๒๐๐๘ มีนักเดินทางที่เป็นลูกค้ากว่า ๒๐ ล้านคนทั่วโลกเดินทางด้วยบริการของ Airbnb  ไม่เพียงแต่ราคาเท่านั้นที่มัดใจแขก  หากแต่ความหลากหลายด้วย  ตั้งแต่โซฟาที่ดึงออกมาเป็นเตียง ห้องพักแขกที่มีห้องน้ำ-ส้วมของตัวเอง ไปจนถึงอพาร์ตเมนท์ทั้งหลัง  ไม่มีอะไรที่หาไม่ได้  ผู้ที่ต้องการลองของแปลก ๆ ก็สามารถพักในปราสาท กังหันลม เรือยอทช์หรือในรถของละครสัตว์  ส่วน Wimdu จากเบอร์ลินที่ให้บริการที่พักในกว่า ๑๕๐ ประเทศ  นับแต่การก่อตั้งในปี ๒๐๑๑ มีการให้บริการที่ประสบความสำเร็จกว่า ๑ ล้านครั้ง   9flats ที่เริ่มต้นให้บริการในปี ๒๐๑๑ ที่เบอร์ลินเช่นเดียวกันมีที่พักใน ๘๐,๐๐๐ เมืองใน ๗๘ ประเทศ  อีกเจ้าคือ Fewo-direkt  รายนี้ผู้เขียนไม่รู้จัก  แต่ตามข้อมูลของ ADAC ก่อตั้งในปี ๑๙๙๗ ในฐานะตลาดสำหรับบ้านพักตากอากาศหรือ อพาร์ตเมนท์ตากอากาศใน ๑๙๐ ประเทศและบริการที่พักตามบ้านด้วย
การหาที่พักก็ทำได้ง่าย ๆ โดยเข้าไปในเว็บไซท์ของผู้ให้บริการที่ว่าแล้วระบุความปรารถนา ได้แก่ เมืองที่จะไปพัก ลักษณะที่พักที่ต้องการ ระยะเวลาการค้างคืน จำนวนผู้พักและเกณฑ์ราคา เช่น ต้องการห้องพักที่เบอร์ลิน (อาจระบุย่านที่ต้องการพักด้วยก็ได้) ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๓ ตุลาคม (๓ คืน) สำหรับผู้ใหญ่ ๒ คน ราคาคืนละไม่เกิน ๓๕-๔๐ ยูโร  ก็จะมีภาพที่พักและรายละเอียดเกี่ยวกับที่พัก เช่น ความใกล้ไกลจากกลางเมืองหรือย่านเมืองเก่า อนุญาตให้ใช้ครัวหรือไม่ รวมอาหารเช้าหรือไม่  อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงไปด้วยหรือไม่ ฯลฯ  สามารถดูรูปเจ้าของที่พักและข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทำความรู้จักล่วงหน้า หากใช้บริการของ Wimdu แขกจ่ายค่าธรรมเนียม ๑๕-๒๐% ของราคาที่พักต่อการจอง  ของ Airbnb ๓%  หลังการพักทั้งแขกและเจ้าของที่พักสามารถให้คำวิจารณ์ที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถอ่านได้  ด้วยวิธีนี้และการติดต่อผ่านอีเมลทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถประเมินได้ว่าจะเข้ากันได้หรือไม่และหลีกเลี่ยงความไม่พอใจและผิดหวัง
ถ้าอ่านกันมาถึงตรงนี้คงถึงบางอ้อแล้วว่าที่ว่าประหยัดตอนนอนนั้นเป็นอย่างไร  จุดหมายการท่องเที่ยวครั้งต่อไปของผู้เขียน คือ บ้านเพื่อนที่ภาคใต้ของฝรั่งเศส  ซึ่งระยะทางจากบ้านไปก็ไกลโขเป็นพันกิโลเมตร  จึงต้องมีการแวะค้างกลางทาง  ผู้เขียนกำลังคิดอยากหาที่พักที่ต่างจากเคย เช่น ปราสาทเก่า  แต่ว่าที่ฝรั่งเศสมีผอสระอีหรือเปล่า ใครรู้บ้าง? 555
 airb-08-10-2014
wd-08-10-2014
9ft-08-10-2014
เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น