วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

IMF หั่นจีดีพีโลกรอบสาม ห่วงศก.ซึมยาว-ยูโรโซนกู่ไม่กลับ

       เอเจนซีส์ – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ ชี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่การชะลอตัวในกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่อย่างบราซิล นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกยังถูกบ่อนทำลายจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยูเครน ตลอดจนถึงการระบาดของไวรัสอีโบลา และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น แนะชาติมั่งคั่งสานต่อมาตรการปฏิรูปและการกระตุ้นทางการเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ “เศรษฐกิจซึมยาว”
       
       ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคาร (7) ไอเอ็มเอฟลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกอยู่ที่ 3.3% และ 3.8% ในปีนี้และปีหน้า จากที่คาดไว้ 3.4% และ 4% ตามลำดับเมื่อเดือนกรกฎาคม นับเป็นการลดการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตปีปัจจุบัน 9 จาก 12 ครั้งในรอบ 3 ปีล่าสุด เนื่องจากมีการประเมินสูงเกินไปว่า ประเทศมั่งคั่งจะสามารถสลัดพ้นปัญหาหนี้สาธารณะเบ่งบาน และอัตราว่างงานพุ่งที่เรื้อรังมาจากวิกฤตการเงินโลกปี 2007-2009 อย่างรวดเร็ว
       
       ไอเอ็มเอฟเรียกร้องอีกครั้งให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การปรับปรุงนโยบายตลาดแรงงาน การปราบปรามการหนีภาษี และเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเศรษฐกิจชะงักงัน
       
       โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ความที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศชั้นนำมากมายลดต่ำอยู่ที่เกือบ 0% จึงเป็นการยากที่จะกระตุ้นอุปสงค์ และตอกย้ำความกังวลต่อภาวะ “เศรษฐกิจซึมยาว” ที่ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยเตือนไว้
      ทั้งนี้ แม้ชาติร่ำรวยอย่างอังกฤษและอเมริกามีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ไอเอ็มเอฟ กลับปรับลดแนวโน้มการเติบโตของ 3 ชาติยักษ์ใหญ่ในยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี และสำทับว่า ประเทศชั้นนำจำเป็นต้องสานต่อมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
        ไอเอ็มเอฟยังลดการคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นและบราซิล และตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มการขยายตัวของตลาดเกิดใหม่ขณะนี้ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ในปี 2011 ถึง 1.5%
       
       บลองชาร์ด ขยายความว่า มีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวในยูโรโซนจะชะงักงัน ความต้องการอ่อนตัวลงหนักกว่าเก่า และภาวะเงินเฟ้อต่ำแปลงสภาพเป็นภาวะเงินฝืด ซึ่งหากสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก
       
       ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่า ยูโรโซนจะมีอัตราเติบโตในปีนี้แค่ 0.8% จากที่คาดไว้ 1.1% และปีหน้า 1.3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม 1.5% รวมทั้งคาดว่า มีโอกาส 30% ที่ยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในปีหน้า และเกือบ 40% ที่เขตเงินสกุลเดียวแห่งนี้อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
       
       ญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.9% ในปีปัจจุบัน และลดเหลือ 0.8% ในปี 2015 จากที่เคยคาดไว้ที่ 1.6% และ 1% ตามลำดับ
       
       ขณะที่แนวโน้มจีดีพีจีนคงอยู่ที่ 7.4% และ 7.1% ในปีปัจจุบันและปี 2015 และจีดีพีอเมริกาได้รับการปรับเพิ่ม 0.5% อยู่ที่ 2.2% ในปีนี้ เนื่องจากมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสแรก
       
       ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่า ตลาดการเงินอาจดิ่งลงทันที หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย และ บลองชาร์ด ไม่มั่นใจว่า บรรดาผู้คุมกฎเตรียมพร้อมเพื่อลดทอนผลกระทบจากสถานการณ์นี้แล้วหรือยัง
       
       เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงสำคัญจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยาน และฉุดการค้าและการเงินหยุดชะงัก นอกจากนี้ หากนานาชาติยังไม่สามารถหาทางรับมือกับการระบาดของอีโบลาได้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วยเช่นกัน
       
       อนึ่ง รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาก่อนที่จะมีการประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่วอชิงตันในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น