วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

รายงาน ‘โลกร้อน’ เรียกร้อง ยุติใช้น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหินในปี 2100

      เอเจนซีส์ – คณะผู้เชี่ยวชาญภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ระบุในรายงานชิ้นใหญ่ฉบับล่าสุด ยืนยันว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นมา โดยแทบจะเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ล้วนๆ และหากต้องการจำกัดผลกระทบอันเป็นอันตรายร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเช่นนี้แล้ว ก็ควรต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิส เป็นต้นว่า น้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน ให้น้อยลงเป็นขั้นๆ จนกระทั่งยุติไปภายในปี 2100
     
        รายงานฉบับวิเคราะห์ที่นำออกเผยแพร่ในกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก เมื่อวันอาทิตย์ (2 พ.ย.) ถือเป็นรายงานชิ้นที่ 4 และชิ้นสุดท้ายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC)  รายงานนี้ไม่ได้นำเสนอประเด็นที่แปลกไปกว่าที่เคยมี   แต่เป็นการรวบรวมสิ่งที่ค้นพบในรายงาน 3 ฉบับแรกที่เผยแพร่ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา และตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
     
        รายงานระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ควรจะต้องลดลงเหลือ 0 ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศา โดยที่พวกผู้เชี่ยวชาญต่างระบุว่าหากสูงกว่านี้โลกจะเป็นอันตรายมาก
     
        ทั้งนี้หากจำกัดเอาไว้ไม่สำเร็จ โลกก็คงถูกล็อกอยู่ในวิถีของผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ชนิด “ที่ไม่อาจหวนกลับคืนได้” โดยผลกระทบบางอย่างปรากฏให้เห็นแล้ว เป็นต้นว่า ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้น น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น  และมีความเป็นกรดสูงขึ้น ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งแถบอาร์กติกหลอมละลาย และคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น

       แม้เต็มไปด้วยการคาดการณ์แง่ลบ แต่รายงานฉบับนี้ยังให้ความหวังโดยระบุว่า เครื่องมือในการทำให้โลกเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ถ่านหิน หรือ ก๊าซ ที่เป็นตัวการสำคัญในการสร้างมลพิษให้ชั้นบรรยากาศ
     
        ประธาน IPCC ชี้ว่า ทางออกมีมากมายที่ไม่ถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ สิ่งที่ต้องการคือ เจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งมาจากความรู้และความเข้าใจในปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเชิงวิทยาศาสตร์
     
        IPCC ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 1988 เพื่อทำหน้าที่ประเมินภาวะโลกร้อนและผลกระทบ รายงานฉบับล่าสุดนี้อ้างอิงกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวน 30,000 ฉบับ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนับจากทศวรรษ 1950 นั้นเกือบทั้งหมดเกิดจากมนุษย์
     
        กระบวนการวิจัยศึกษาของ IPCC ไม่ควรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องผ่านการยอมรับของภาครัฐบาลนานาชาติด้วย   ยังมีการต่อรองการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์  ผลที่ได้ทำให้มีการตัดข้อความว่าด้วยระดับภาวะโลกร้อนที่ถือว่าเป็น “อันตราย” กับการเล่นคำ  โดยการใช้คำว่า “ความเสี่ยง” ถึง 65 ครั้ง

        ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2009 ทั่วโลกกำหนดเป้าหมายให้ช่วยกันรักษาอุณหภูมิโลก อย่าให้ร้อนขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยที่นับจากศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นราว 0.8 องศาเซลเซียสแล้ว

        ขณะเดียวกัน ตลอดช่วงหลายปีมานี้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเวลานี้ทั่วโลกใช้โควตาการปล่อยคาร์บอนของตัวเองไปแล้ว 2 ใน 3 ของระดับการปล่อยก๊าซออกซิเจนสูงสุดที่ IPCC ระบุว่า สามารถทำได้ โดยไม่ทำให้อุณหภูมิโลกขยับถึง 2%
     
        รายงานล่าสุดเรียกร้องว่า ภายในปี 2050 ไฟฟ้าส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องผลิตจากแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเพิ่มการใช้พลังงานที่สามารถสร้างทดแทนได้ เพิ่มขึ้นจาก 30% ของภาคพลังงานในปัจจุบัน เป็น 80%
     
        IPCC ยืนยันว่า ต้นทุนในการเปลี่ยนระบบพลังงานเป็นพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมทั้งแหล่งพลังงานอื่นที่สามารถสร้างทดแทนได้ และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขยับลงแค่ปีละ 0.06% เท่านั้น    ควรพิจารณาต้นทุนดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของการไม่ทำอะไรเลยอันจะทำให้ทุกชีวิตบนโลกตกอยู่ในอันตราย
     
        รายงานฉบับนี้ถือเป็นโรดแมปทางวิทยาศาสตร์สำหรับการเจรจาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของยูเอ็น ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าที่เปรู ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนซัมมิตในปารีสปีหน้า ซึ่งจะต้องรับรองข้อตกลงการจัดการภาวะโลกร้อน
     
        อุปสรรคสำคัญของการบรรลุข้อตกลงฉบับนี้ คือการที่นานาชาติเกี่ยงความรับผิดชอบ กล่าวคือประเทศมั่งคั่งเรียกร้องให้จีนและชาติกำลังพัฒนาสำคัญอื่นๆ ต้องรับผิดชอบเป้าหมายที่สูงมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบอกว่า ชาติร่ำรวยนั้นเป็นพวกที่มั่งคั่งจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอดีต จึงมีความรับผิดชอบจากประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้นำต่อสู้ภาวะโลกร้อน ตลอดจนในการช่วยเหลือชาติยากจนรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
     
        IPCC พยายามคลี่คลายประเด็นนี้โดยไม่เลือกข้าง ด้วยการระบุว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือ การทำให้ผู้คนและชุมชนในประเทศต่างๆ ในทุกระดับการพัฒนา ล้วนสูญเสียผลประโยชน์

ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น