วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัมชี้ “ความไม่เท่าเทียมทางรายได้” คือปัญหาใหญ่หลวงที่ผู้นำทั่วโลกแก้ไม่ตก

รายงานขององค์การ “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม” (WEF) ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ระบุว่า ในปี 2015 ปัญหาการว่างงาน และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นกำลังจะกลายเป็นปัญหาอันดับแรกๆ ที่บรรดาผู้นำทั่วโลกรู้สึกพากันกลุ้มอกกลุ้มใจ
       
       องค์การ ซึ่งดึงดูดหัวกะทิจากทั่วโลกให้มารวมตัวกัน ณ สกีรีสอร์ทอันหรูหรา ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ในแต่ละปีแห่งนี้ ได้จัดอันดับประเด็นปัญหา 10 ประการแรก ที่ส่อแววจะครอบงำจิตใจของผู้นำประเทศในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า 
        จากการสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ 1,800 คน รวมทั้ง อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ พบว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ถูกจัดให้เป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่ง
       
       อัล กอร์ ระบุในรายงานว่า “ขณะที่คนรวยทั่วโลกสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้มากมายจนกลายเป็นสถิติไปเรื่อยๆ คนชนชั้นกลางก็กำลังปากกัดตีนถีบ”
       
       อามินา โมฮัมหมัด ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยการวางแผนปี 2015 ของ บัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า “การละเลยปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างเห็นชัด”
       
       เธอกล่าวว่า “ประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ถูกกีดกันจากสังคมส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการถูกลิดรอนสิทธิ์ และอาจก่อปัญหาได้ง่ายๆ” พร้อมกับเตือนว่า สิ่งนี้จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยของเรา และดับหวังในการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีสังคมที่สงบสุขของเรา”
       
       แม้ว่าปัญหาที่น่ากังวลหลายประการเคยปรากฏในการจัดอันดับครั้งก่อนของ WEF แต่ในปีนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้ระบุถึงประเด็นที่ทำให้ผู้วางนโยบายพากันปวดเศียรเวียนเกล้าเพิ่มมาอีก 2 ประเด็น
       
       ปัญหาแรกคือการแข่งขันในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ ตัวอย่างของกรณีนี้คือสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกที่กำลังร้อนระอุ ซึ่งถูกจัดให้เป็นปัญหาอันดับ 4 ขณะที่อีกปัญหาหนึ่งคือกระแสความคลั่งชาติอย่างรุนแรงที่ผุดขึ้นมาในอันดับ 8
       WEF ระบุว่า “สิ่งนี้ชี้ว่า การเมืองระหว่างประเทศกำลังประสบความแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ และประชากรได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้กระแสโลกาภิวัตน์อย่างรุนแรง”
       
       ขณะเดียวกัน การขาดแคลนผู้นำ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วรั้งอันดับ 7 ตอนนี้ขยับพรวดขึ้นสู่อันดับ 3
       
       สำหรับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นรั้งท้ายสุดที่อันดับ 10 ขณะที่ปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่อันดับ 6 ขึ้นนำปัญหาสภาพอากาศรุนแรงที่อยู่ในอันดับ 7
       
       นอกจากนี้รายงานยังเน้นย้ำว่า โรคร้ายต่างๆ อย่างเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค นั้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศมากมายทั่วโลก
       
       ธนาคารโลกประมาณการว่า ความแตกต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ครึ่งหนึ่งเป็นผลมาจากประชากรมีสุขภาพย่ำแย่ และมีช่วงอายุเฉลี่ยสั้น
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น