วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

5 แบงก์ชั้นนำของโลกฉาวรอบใหม่ ปั่นตลาดเงินตรา

       เอเจนซีส์ – 5 แบงก์ชั้นนำของโลกถูกปรับอ่วมรวมกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ โทษฐานพยายามปั่นตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นการลงโทษอุตสาหกรรมการธนาคารครั้งล่าสุด หลังจากก่อนหน้านี้วงการนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการสมคบคิดปั่นอัตราดอกเบี้ย “ไลบอร์” และมีบทบาทสำคัญอันนำไปสู่วิกฤตภาคการเงินโลก
       
       คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ (CFTC) สำนักงานกำกับดูแลภาคการเงินแห่งสหราชอาณาจักร (FCA) และสำนักงานกำกับดูแลตลาดการเงินสวิตเซอร์แลนด์ (FMSA) ต่างออกคำแถลงเมื่อวันพุธ (12 พ.ย.) ว่า ซิตี้กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของซิตี้แบงก์, เจพีมอร์แกน เชส แบงก์, รอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ (RBS), เอชเอสบีซี แบงก์, และ ยูบีเอส ตกลงจ่ายค่าประนอมยอมความรวมเป็นมูลค่าเกือบ 3,400 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน FCA ยังสำทับว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนบาร์เคลย์ส แบงก์ของอังกฤษอีกรายหนึ่งด้วย
       
       ตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลกนั้น มีเงินหมุนเวียนเข้าออกถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน โดย 40% เกิดขึ้นที่ลอนดอน สกุลเงินต่างๆ ถูกซื้อขายในตลาดที่มีการควบคุมอย่างหลวมๆ และครอบงำโดยกลุ่มแบงก์ชั้นนำของโลก ทว่า การซื้อขายเหล่านั้นมีผลกระทบที่กว้างไกลมาก เนื่องจากบริษัททั่วโลกใช้ราคาอ้างอิงในตลาดลอนดอนนี้ในการกำหนดมูลค่าสินทรัพย์และในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสกุลเงิน
       
       หน่วยงานผู้คุมกฎจากสามประเทศดังกล่าว ตรวจพบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2008 ถึง 15 ตุลาคม 2013 แบงก์ทั้งห้าที่กล่าวข้างต้นมีความบกพร่องล้มเหลวในการฝึกอบรมและตรวจสอบพวกเทรดเดอร์ของตนในตลาดปริวรรตเงินตรา ผลลัพธ์คือเทรดเดอร์เหล่านั้นสมคบกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรมของลูกค้าซึ่งควรต้องเก็บเป็นความลับ โดยใช้รหัส เช่น “เดอะ เพลเยอร์” “เดอะ ทรี มัสคีเทียร์ส” ฯลฯ
       
       ผู้คุมกฎเหล่านี้แฉต่อไปว่า พวกเทรดเดอร์มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลที่ได้รับ เพื่อนำมากำหนดยุทธศาสตร์การซื้อขายของพวกเขาเอง จากนั้นจึงพยายามปั่นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นมาตรวัดการปริวรรตเงินตราของทั่วโลก และทำให้ลูกค้าสั่ง “ตัดขาดทุน” ซึ่งเป็นคำสั่งที่ลูกค้ามักใช้เพื่อจำกัดการขาดทุนขณะที่เกิดปัจจัยลบในตลาด
       
       FTA เสริมว่า เทรดเดอร์เหล่านี้พยายามปั่นอัตราแลกเปลี่ยนใน ตลาดปริวรรตเงินตราสกุลกลุ่มจี-10 แบบส่งมอบทันที เพื่อให้แน่ใจว่า ธนาคารของตนทำกำไรได้ โดยไม่คำนึงถึงว่า สร้างความเสียหายแก่ลูกค้าบางรายรวมทั้งผู้เล่นอื่นๆ ในตลาด
       
       นอกจากนี้ CFTC ยังออกคำแถลงต่างหากอีกฉบับหนึ่ง ระบุว่า แบงก์ทั้ง 5 ถูกลงโทษจากการพยายามและช่วยเหลือกันในการพยายามปั่นอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลกเพื่อส่งเสริมเทรดเดอร์บางราย รวมทั้งแบงก์เหล่านี้ยังร่วมมือในการเทรดกับแบงก์อื่นๆ ในห้องแชตส่วนตัว เพื่อพยายามปั่นตลาด
       
       ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ซึ่งเป็นแบงก์ชาติของอังกฤษ ได้มอบหมายให้นักกฎหมายภายนอก ดำเนินการสอบสวนบทบาทเจ้าหน้าที่ของตนในตลาดปริวรรตเงินตรา ซึ่งแม้ไม่พบหลักฐานว่า ธนาคารเกี่ยวข้องในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมใดๆ แต่พบว่า หัวหน้าดีลเลอร์ตลาดปริวรรตเงินตราคนหนึ่งระแคะระคายเรื่องเทรดเดอร์แบงก์ใหญ่แบ่งปันข้อมูลกันอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2012 แล้ว ทว่าไม่ได้แจ้งให้หัวหน้างานรับรู้
       
       แอนโธนี กราบิเนอร์ นักกฎหมายที่ทำการตรวจสอบระบุในรายงานว่า หัวหน้าเทรดเดอร์คนดังกล่าวควรถูกตำหนิจากการมีวิจารญาณผิดพลาด แต่ไม่ถือว่าทำผิดกฎหมายหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเนื่องจากไม่มีเจตนาทุจริต
       
       ทางด้านกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอีกหลายแห่งของสหรัฐฯ ก็กำลังตรวจสอบและเตรียมการลงโทษเพิ่มเติมเช่นกัน
       
       หนวยงานผู้คุมกฎในอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา ตลอดจนในประเทศแถบเอเชีย ได้ทำการตรวจสอบการดำเนินการของธนาคารเหล่านี้มานานหลายเดือน ก่อนจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยซิตี้กรุ๊ปถูกปรับ 600 ล้านดอลลาร์, เจพีมอร์แกน เชสประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ ส่วนบาร์เคลย์, เอสเอสบีซี และ RBS ถูกปรับแห่งละหลายร้อยล้านดอลลาร์
       
       เรื่องอื้อฉาวในวงการปริวรรตเงินตราครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่โลกการธนาคารถูกเปิดโปงพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล และเป็นอีกครั้งที่แบงก์ข้ามชาติรายใหญ่เสียชื่อ จากก่อนหน้านี้ที่ลอยด์, บาร์เคลย์ส และ RBS ของอังกฤษทั้งหมด ถูกลงโทษจากการปั่นอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (ไลบอร์) ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงสำคัญของโลก และขณะนี้การสอบสวนยังไม่สิ้นสุด
       
       ไม่เพียงเท่านั้น พวกแบงก์ใหญ่ในวอลล์สตรีทอย่างเจพีมอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา และซิตี้กรุ๊ป ก็ต้องจ่ายค่าประนอมยอมความรายละหลายพันล้านดอลลาร์ให้แก่กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ จากบทบาทในการขายหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำค้ำประกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตภาคการเงินโลกปี 2008 ที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดนับแต่ทศวรรษ 1930

ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น