วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อาหาร กับ อารมณ์

เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า อาหารบางอย่าง เมื่อกินแล้วจะรู้สึกกระชุ่มกระชวย คึกคัก อาหารบางอย่างกินแล้วรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน อาหารมีอิทธิพลต่ออารมณ์ได้จริงๆ หรือ
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า อาหารมีอิทธิพลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเราได้จริง เหตุที่อาหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของสมองแท้ๆ ก็เพราะสารอาหารสามารถเข้าไปปรับสมดุลของฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมแสดงออกต่างๆ ได้
การศึกษาวิจัยของ ดร.จูดิธ เวิร์ตแมน แห่ง Massachusetts Institute of Technology พบว่า การกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง จะทำให้สารเคมีหรือสารสื่อประสาทบางตัวมีปริมาณสูงขึ้น ทำให้สมองสงบลง สารเคมีตัวที่ว่านี้คือสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน
แป้งหรือน้ำตาล เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลให้กรดอะมิโนทริปโตฟานผ่านเข้าสู่สมองมากขึ้น ทริปโตฟานเป็นสารต้นกำเนิดของสารเซโรโทนิน ระดับเซโรโทนินที่สูงขึ้นในสมอง จะออกฤทธิ์ทำให้สมองสงบลง คนที่กินอาหารประเภทแป้งจึงค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ตึงเครียด หรือเอะอะโวยวาย แต่หากกินแป้งมากเกินไป ก็จะทำให้ง่วงเหงาหาวนอน หรือซึมเซาไม่กระฉับกระเฉงเอาได้ง่ายๆ
ในทางตรงข้าม หากกินอาหารประเภทโปรตีนหรือกรดอะมิโน สารอีกตัวหนึ่งในสมองคือ โดปามีน และ นอร์เอพิเนฟริน จะมีระดับสูงขึ้น สารสื่อประสาทกลุ่มนี้ สร้างความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่าให้กับสมอง คนที่กินโปรตีนจึงรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ถ้ากินมากเกินไป ก็อาจจะถึงขั้นหงุดหงิดได้
นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยของอาจารย์วิชาจิตวิทยา โรงเรียนแพทย์ไครสทเชิร์ช ของนิวซีแลนด์ พบว่าโปรตีนจากปลา มีกรดอะมิโนทริปโตฟาน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้คนเราหายจากอาการซึมเศร้าได้
วันไหนรู้สึกเศร้าสร้อย ลองกินปลาดูซิว่า จะสดชื่นรื่นเริงขึ้นมาไหม
แต่คนนิวซีแลนด์กลับไม่ค่อยชอบกินปลา  แถมมีอัตราป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงที่สุดชาติหนึ่ง อย่างนี้เขาเรียกใกล้เกลือกินด่าง
ในขณะที่แถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ฤดูหนาวอากาศครึ้ม กลางวันสั้น กลางคืนยาว ผู้คนมักจะเกิดอาการเครียดและซึมเศร้าได้ง่ายๆ เรียกอาการกลุ่มนี้ว่า “ความซึมเศร้าที่เป็นผลมาจากฤดูกาล” หรือ Seasonal Affected Depression ย่อว่า SAD (ย่อได้อารมณ์ดีจริงๆ)
เขาแก้อาการเครียดและซึมเศร้าประเภทนี้กันด้วยการให้ผู้ป่วยกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ระดับเซโรโทนินในสมองสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการสงบลง
หากรู้สึกเครียดขึ้นมา การกินอาหารประเภทแป้งหรือดื่มน้ำหวานสักแก้ว จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง ความเครียดจะลดลงได้เอง ใครที่เคยเลี้ยงเด็กอ่อน คงเคยสังเกตว่าเวลาให้เด็กดื่มน้ำหวานหรือนมรสหวานไปสักพัก เด็กจะสงบลงและอาจจะหลับสบายไม่ค่อยกวนเท่าไร
คนที่กินอาหารประเภทแป้งมากๆ ในมื้อกลางวัน พอตกบ่ายจึงมักจะมีอาการอย่างที่เรียกกันว่า หนังท้องตึง หนังตาหย่อนนั่นแหละ หากไม่อยากง่วงตอนบ่าย ลองเลือกกินอาหารโปรตีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนประเภทที่ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ระดับฮอร์โมนโดปามีนสูงขึ้น ช่วยให้รู้สึกตื่นตัวและสดชื่นขึ้น
มาพูดถึง ช็อกโกแลต กันบ้าง มีสารเคมีหลายชนิดในช็อกโกแลตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ สารคาเฟอีนในช็อกโกแลต ทำให้สมองตื่นตัว ทำให้กระปรี้กระเปร่าโดยไม่เป็นอันตราย สารไขมันในช็อกโกแลต จะไปช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอนโดรฟีนในสมอง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข นอกจากนี้ สารธีโอโบรมีน และ สารฟีนิลเอธิลลามีน ในช็อกโกแลต ยังช่วยทำให้อารมณ์ครื้นเครงมากขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน น้ำตาลในช็อกโกแลต ก็ทำให้ระดับเซโรโทนินในสมองสูงขึ้น คนที่กินช็อกโกแลตจึงสงบลง และหากอร่อยเพลินเกินขีด น้ำตาลในช็อกโกแลตที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงเกินไป อารมณ์สงบก็จะกลายเป็นอารมณ์ง่วงเหงาหาวนอนไปแทน
สรุปก็คือ หากต้องการที่จะให้อารมณ์สงบลง ให้เลือกอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล หากต้องการให้สมองกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ให้เลือกอาหารประเภทโปรตีน อย่างไรก็ตาม ต้องรับประทานในปริมาณพอเหมาะ ไม่อย่างนั้นก็อาจได้ผลไม่ตรงตามต้องการดังที่กล่าวไปแล้ว
20140912_132920
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น