วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินนิยายสืบสวน “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” เป็นผลงานสาธารณะ

        สื่ออเมริกาเอเอฟพีรายงานว่า – ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่รับคำร้องของบรรดาทายาท เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ผู้แต่งนวนิยายแนวสืบสวน “เชอร์ล็อก โฮล์มส” วานนี้ (3) ส่งผลให้นวนิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นผลงานสาธารณะที่ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ต่อไป
       
       คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายนช่วยให้นักเขียนและบรรณาธิการชาวอเมริกันผู้หนึ่งสามารถตีพิมพ์หนังสือซึ่งมีตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของนักเขียนชื่อก้องชาวสก็อตต์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น
       
       ศาลอุทธรณ์ชี้ว่า ตัวละครในนวนิยายเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ถูกสร้างขึ้นก่อนปี 1923 จึงอยู่นอกเหนือความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
       
       เนื่องจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ ไม่รับคำร้องของทายาทเจ้าของผลงาน คำตัดสินของศาลอุทธรณ์จึงยังมีผลบังคับต่อไป
       
       เรื่องราวของโฮล์มส์ และคู่หูอย่าง ดร.วัตสัน ปรากฏต่อสายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรกในปี 1887 ทั้งสองได้ช่วยกันคลายปริศนาคดีอาชญากรรมในนวนิยายเรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้นอีก 56 เรื่อง ซึ่งถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก
       
       เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เกือบทุกตอนถูกจัดเป็นผลงานสาธารณะ ยกเว้น 10 เรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์หลังปี 1923 และยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2022
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น