วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ยุโรปตื่นตัวรับอีโบลา “ เยอรมันยอมเปิดห้องความปลอดภัยชีวภาพ ระดับ 4 ให้ชม ” แต่ไทยขาดตั้งแต่ชุดป้องกัน

      เอเจนซีส์ – ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตผู้ป่วยอีโบลาสูงกว่า 1000 คนล่าสุด ทำให้ทางประเทศยุโรปต่างตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือโรคมรณะที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะระบาดจากแอฟริกา และเยอรมันได้แสดงความพร้อมในด้านนี้จากการที่พบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อถูกกักอยู่ในห้องกักกันพิเศษทางชีวภาพในโรงพยาบาลฮัมบวร์ก และได้ล้มป่วยลงหลังจากบินกลับมาจากเซียร์ราลีโอน ด้านไทยยังเฝ้าระวังพร้อมรับมือ แต่ไร้ห้องป้องกันชีวภาพระดับสูงสุด หรือชุดป้องกันภัยชีวภาพระดับ 4 
       
       สื่ออังกฤษและสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้(11)ว่า หลังจากทางอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินจากการคุกคามของอีโบลาและกำหนดว่า วัคซีนสำหรับรักษาโรคสามารถเร่งผลิตออกใช้ได้ทันอย่างเร็วไม่เกินปีต้นปีหน้า และพบว่ามีพลเมืองเยอรมันล้มป่วยเป็นไข้ และในขณะนี้อยู่ในห้องกักกันพิเศษทางชีวิภาพในโรงพยาบาลฮัมบวร์กในวันอาทิตย์(10) หลังจากที่บินกลับจากเซียร์ราลีโอนที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโรค ทำให้เยอรมันมีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดต่อร้ายแรงนี้ โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล Charite hospital ในกรุงเบอร์ลินได้เปิดให้ชมถึงความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดโรคร้ายเริ่มต้นตั้งแต่ห้องกักกันพิเศษ
       
       โดยแพทย์ชาวเยอรมันได้ส่งตัวคนไข้เข้าห้องกักกันหลังจากที่แสดงอาการคล้ายโรคไวรัสอีโบลา สื่อท้องถ่นเยอรมันรายงาน โดยชายชาวเยอรมันผู้นี้ได้เดินทางมาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลฮัมบวร์กในวัยเสาร์(10) ด้วยอาการไข้สูงและคลื่นไส้ หลังจากที่เขาเพิ่งบินกลับมาจากเซียราลีโอน ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเร่งนำตัวคนไข้แยกไปอยู่ต่างหาก และส่งตัวไปยังศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย Hamburg-Eppendorf ด้วยคาราวานรถพยาบาลที่มีรถตำรวจตามประกบถึง 6 คัน และยังไม่แน่ชัดว่าชายผู้นี้ได้ติดต่อกับคนไข้อีโบลาในเซียราลีโอนหรือไม่ ซึ่งประเทศนี้มียอดเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 286 คนในการระบาดล่าสุด
       
       และนอกจากคนไข้ที่เพิ่งบินกลับจากเซียร์ราลีโอนและล้มป่วยลงแล้ว ยังมีนักศึกษาแพทย์เยอรมันที่กำลังศึกษาอยู่ในรวันดานั้นพบว่ามีอาการส่อว่าอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านักศึกษาแพทย์รายนี้จะป่วยด้วยโรคร้ายนี้หรือไม่ และไม่มีความชัดเจนว่าจะบินกลับเข้ามารักษาตัวในเยอรมัน
       
       นอกจากนี้ในสาธารณรัฐเช็ก กองทัพของประเทศฝึกรับมือเตรียมพร้อมภัยคุกคามอีโบลาทีศูนย์ป้องกันภัยทางชีวภาพของกองทัพเช็ก โดยทหารเหล่านี้ฝึกการควบคุมการระบาด จัดตั้งเขตกักกัน และให้การรักษาผู้ป่วยด้วยเกรงว่าโรคมรณะจะลามมาถึงยุโรปตะวันออก ซึ่งศุนย์แห่งนี้ที่ตั้งติดพรมแดนโปแลนด์ถือเป็นหนึ่งในศูนย์การแพทย์ที่มีการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคร้ายในภูมิภาคนี้ได้
       
       โดยเมื่อไม่กี่วันมานีมีชาวโรมาเนียได้ล้มป่วยลงหลังจากกลับมาจากไนจีเรียและถูกส่งตัวเข้าห้องกักกันพิเศษด้วยความเกรงว่าเขาอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลา
       
       ในสเปน บาทหลวงคาทอลิกวัย 75 ปี ที่ถูกส่งตัวกับมารักษาในห้องกักันพิเศษหลังจากติดเชื้อไวรัสอีโบลา และได้รับเซรุม Zmapp เสียชีวิตแล้วในวันอังคาร(12)
       
       และที่จีนมีการออกมาตรการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจีน เข้มงวดในมาตรการควบคุมโรคและเพิ่มเติมจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อรับมือโรคร้าย รวมไปถึงเขตกักกันโรค และแล็บตรวจเชื้อประจำสนามบิน จากการที่จีนถือเป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ทำให้มีการติดต่อค้าขายกับชาวกาฬทวีปมากขึ้นและเป็นสาเหตุทำให้อาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในจีนได้
       
       ในขณะที่ไทยที่มีการเตรียมเฝ้าระวังแต่ไม่ให้ตื่นกลัว และมีการประกาศยกระดับให้โรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายสูงสุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้ไทยจะไม่มีการติดต่อค้าขายกับแอฟริกาเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าพบว่ามีชาวกาฬทวีปเดินทางเข้ามาสั่งซื้อสินค้า อาทิ เสื้อผ้าบริเวณประตูน้ำ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ในห้างใหญ่เพื่อนำกลับไปขายต่อในแอฟริกาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชาวแอฟริกาจำนวนหนึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยโดยเฉพาะในย่านเขตกรุงเทพฯ ซึ่งทางหน่วยงานรัฐที่นอกจากมีมาตรการคุมเข้มที่ด่านท่าอากาศยานแล้ว แต่ไม่มีแผนเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนเช่นประเทศอื่นๆทั่วโลก
       
       และรอบในสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อไทยได้รายงานเพิ่มเติมยืนยันว่า “ไทยไม่มีความสามารถในการรับมือโรคร้ายนี้ได้หากระบาดจริง” จากการเปิดเผยของ ศ.ดร. พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพบว่า ไทยยังขาดชุดป้องกันชีวภาพสำหรับเจ้าหน้าที่การแพทย์และห้องความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ 4 ซึ่งทางองค์การอนามัยโรคได้จัดให้ไวรัสอีโบลามีระดับความร้ายแรงในระดับ 4 ที่ยังไม่มีทางรักษาได้ โดยในขณะนี้ไทยมีเพียงห้องความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ 3 เท่านั้น ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นจริงในประเทศ จะเป็นการยากที่จะรับมือได้เพราะยังไม่มีวัคซีนรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสไข้หวัดนก และไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 และยอมรับต่อว่า คงไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่คนใดทำการตรวจเลือดในสภาพที่ต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
       
       และ.ดร. พิไลพันธ์ยังเปิดเผยกับสื่อไทยต่อว่า ชุดอุปกรณ์เบื้องต้นที่ใช้ป้องกันนักวิจัยหรือแพทย์ผู้ต้องสัมผัสเชื้ออีโบลาจะเป็นชุดป้องกันทางชีวภาพพิเศษเพื่อใช้ใช้ในห้องปฏิบัติการชีวภาพระดับสูงสุด (Biosafety Laboratory Level, BSL) และตู้ที่เก็บเชื้อไวรัสชนิดนี้ต้องมีระบบป้องกันพิเศษเช่นกัน เพราะป็นชุดที่มีอุปกรณ์ช่วยกรองอากาศและต้องสวมใส่ถุงมือพิเศษในระหว่างทำแล็บทดสอบอีกด้วย
       
       ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับให้ความเห็นแย้งว่า ระบบการสาธารณสุขไทยมีความพร้อมในการรับมือโรคอีโบลาหากระบาดมาถึงเนื่องจากไทยมีประสบการณ์ในการรับมือการระบาดของโรคซาร์มาแล้ว โดยยกเหตุผลว่าการระบาดของโรคซาร์มีสูงกว่าโรคอีโบลาเนื่องมาจากติดต่อได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามโรคซาร์ถือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงในระดับ 3 ที่ไทยมีความพร้อมทางด้านห้องปฎิบัติชีวภาพและอุปกรณ์ต่างๆ และรวมไปถึงโรงพยาบาลระดับศูนย์ ตลอดจนโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีห้องกักกันพิเศษมาตฐานสูงสำหรับแยกตัวผู้ป่วย แต่ไม่ยังไม่มีขีดความสามารถในการกักกันแพร่ของโรคร้ายในระดับ 4 ได้
       
       ทั้งนี้จากรายงานพบว่าศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดแบ่งห้องทดลองตามระดับของอันตรายทางชีวภาพ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 (Biosafety Level 1 – BSL1) ใช้ทดลองสิ่งมีชีวิตไม่ก่อให้เกิดโรค ระดับ 2 (BSL2) ทดลองเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง เช่น มีลักษณะฟุ้งกระจาย ระดับ 3 (BSL3) ใช้ทดลองกลุ่มสิ่งมีชีวิตก่อโรคร้ายแรง และมีโอกาสแพร่กระจายผ่านทางระบบหายใจ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า และระดับ 4 (BSL4) ใช้ทดลองกลุ่มสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูงสุด หรือยังไม่สามารถทราบระดับอันตรายที่ชัดเจน สำหรับประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการระดับที่ 4 และยังไม่อนุญาตให้ศึกษาทดลองสิ่งมีชีวิตระดับ 4
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น