วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เพลงเกี่ยวกับแม่ (109)

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ
               เนื่องจากเดือนสิงหาคมใกล้จะสิ้นสุดลง จึงขอถือโอกาสเล่าถึงเพลงเกี่ยวกับแม่  โดยที่รัฐบาลสยามได้เห็นความสำคัญของผู้เป็นแม่และประสงค์จะปลูกฝังบรรดาลูก ๆ นึกถึงบุญคุณของผู้เป็นแม่ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดงานวันแม่ครั้งแรกที่สวนอัมพรเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๖ แต่เนื่องจากระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีสงครามโลกพอดี ปีต่อ ๆ มาจึงไม่ได้จัดต่อเนื่องจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง
หลังสงครามโลก รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้จัดงานวันแม่ประจำปีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๓ และถือเป็นวันแม่ของชาติ ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับความสนใจจากประชาชนมาก แต่จัดได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องหยุดจัด เพราะกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบ จึงขาดผู้สนับสนุนการจัดงาน
ต่อมา สมาคมครูคาทอลิคแห่งประเทศไทยได้จัดงานวันแม่ขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๕ แต่ก็จัดได้เพียงครั้งเดียว ในปี ๒๕๑๙ คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันแม่ใหม่ให้แน่นอน  เพื่อการจัดงาน โดยถือวันที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ คือวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี
ในบรรดาครูเพลงซึ่งได้แต่งเพลงเกี่ยวกับแม่ที่ยังคงเป็นเพลงอมตะ ต้องถือว่าครูไพบูลย์ บุตรขัน (๔ กันยายน ๒๔๖๑-๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๕) คนบ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นคีตกวีลูกทุ่งผู้ฝากผลงานผ่านนักร้องหลายคน เพลงนั้นก็คือเพลง “ค่าน้ำนม” ซึ่งแต่งและตั้งใจให้คุณบุญช่วย หิรัญสุนทร(นักร้องชนะเลิศแห่งประเทศไทยในปี ๒๔๙๒ คู่กับคุณทัศนัย ชะอุ่มงาม) ผู้ร้องเพลงน้ำตาแสงไต้ เมื่อปี ๒๔๘๘ (ผลงานของครูสง่า อารัมภีร ครูมารุต และครูเนรมิต) ขับร้อง  ลงแผ่นเสียง แต่คุณบุญช่วยกลับมาจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่ทัน ครูสง่า ซึ่งเป็นผู้จัดเสียงประสาน จัดวงดนตรี และจัดนักร้อง จึงตัดสินใจให้คุณชาญ เย็นแข (๑๐ กันยายน ๒๔๖๙-๕ ตุลาคม ๒๕๓๑) นักร้องสลับฉากละครคณะศิวารมณ์ซึ่งครูสง่าเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีของคณะ ฯ (สมัยนั้นยังไม่มีโรงหนัง มีแต่โรงละคร ผู้คนก็ชอบดูละคร) ร้องลงแผ่นเสียงแทน โดยคุณแพ็ท ซิเกรา (อาของคุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นักดนตรีและนักแต่งเพลง) ผู้อำนวยการอัดแผ่นเสียงของบริษัทนำไทย ซึ่งผลิตแผ่นเสียงตราหมานั่งหน้ากระบอกลำโพงเสียง และผลิตแผ่นเสียงเพลงของคณะสุนทราภรณ์จนขายดี  กับคุณสวัสดิภาพ บุนนาค ผู้จัดการแผนกแผ่นเสียงของบริษัท ฯ (น้องเขยของครูไพบูลย์ และหุ้นส่วนของบริษัทแผ่นเสียงดีคูเปอร์ จอห์นสตัน ตราค้างคาว จากเยอรมนี ผู้ตัดสินใจซื้อเพลงจากครูไพบูลย์ นักแต่งเพลงหน้าใหม่ มาอัดแผ่นเสียงออกจำหน่ายแข่งเพลงของคณะสุนทราภรณ์ ซึ่งบริษัทกมลสุโศลชวนไปอัดแผ่นเสียงตราโคลัมเบียที่บริษัท ฯ แบบผูกขาด) ดูแลและควบคุมการอัดแผ่นเสียงครั้งนี้ ซึ่งทั้ง ๒ คนตกลงให้คุณชาญร้องทดสอบหากคุณบุญช่วยไม่มา เพลงชุดแรกที่จะอัดแผ่นเสียงแผ่นครั่งตกเป็นแตก  ความเร็ว ๗๘ รอบต่อนาที ได้แก่เพลงมนต์เมืองเหนือซึ่งครูไพบูลย์แต่งเป็นเพลงแรก   แต่ออกขายหลังเพลงค่าน้ำนมซึ่งเป็นเพลงแรกที่คุณชาญได้ร้องลงแผ่นเสียงจนมีชื่อเสียง และขายได้ดีรองจากเพลงของสุนทราภรณ์ เพลงคนจนคนจร (คุณชาญ เย็นแข) เพลงดอกไม้หน้าพระ (คุณบุญช่วย หิรัญสุนทร-คุณเฉลา ประสพศาสตร์) และเพลงดอกไม้หน้าฝน (คุณเฉลา ประสพศาสตร์)
วันนั้นเป็นวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๒ ห้องอัดแผ่นเสียงกมลสุโกศลอยู่ชั้นบนของโรงหนังเฉลิมไทย คิดค่าเช่าชั่วโมงละ ๑๕๐ บาท วงดนตรีทั้งวงต้องมาอยู่ในห้องอัด  เพื่อให้นักร้องร้องเพลงพร้อมการเล่นดนตรี งบประมาณอัดเพลงหนึ่งไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (สมัยนั้นทองรูปพรรณบาทละ ๑๐๐ บาท และ ๗ บาทต่อ ๑ ดอลล่าร์สหรัฐ) ครูสง่าได้รับค่าทำเพลง ๆ ละ ๔๕๐ บาท โดยรวมค่าเรียบเรียง ค่านักดนตรี ๘ คน และค่านักร้อง  โดยนักร้องเด่น ๆ อย่างคุณสมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับเพลงละ ๘๐ บาท นักร้องรอง ๆ ได้รับเพลงละ ๔๐-๕๐ บาท ครูไพบูลย์รับค่าแต่งเพลงชุดแรก ๖ เพลง ๖๔๐ บาท
ที่จริงคุณชาญร้องเพลงค่าน้ำนมได้แล้ว เพราะครูสง่าให้ช่วยร้องฮัมจนได้ต่อเพลงนั้นได้ เมื่อได้ร้องทดสอบพร้อมดนตรีได้เพียงท่อนเดียว คุณแพ็ทตกลงอัดเลย คุณชาญร้องได้ ๔-๕ เที่ยว เป็นใช้ได้ และได้ค่าร้องเพลงไป ๕๐ บาท
เพลงที่เกี่ยวกับแม่ของครูไพบูลย์ต่อ ๆ มาก็คือเพลงอ้อมอกแม่ (คุณบุญช่วย  หิรัญสุนทร พ.ศ. ๒๔๙๔) เพลงโอ้ชนกชนนี (คุณชาญ เย็นแข) เพลงโอ้บุพพการี (คุณลัดดา ศีวรนันท์ พ.ศ. ๒๔๙๙) เพลงชั่วดีก็ลูกแม่ (คุณวินัย จุลละบุษปะ)
สำหรับเพลงที่เกี่ยวกับแม่ของเยอรมันคงมีหลายเพลง แต่ที่ผู้เขียนชอบคือเพลง Mama ขับร้องโดย Heintje นักร้องเด็กชายเชื้อสายดัทช์ เมื่อปี ๑๙๖๗ (พ.ศ. ๒๕๑๐) จังหวะ slow-foxtrot จากแผ่นเสียง Ariola คำร้องของนาย Bruno Balz ส่วนทำนองได้นำมาจากเพลง Mamma ต้นฉบับภาษาอิตาลี่ของนาย Censare Andrea Bixio (๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖-๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๘/พ.ศ. ๒๔๓๙- ๒๕๒๑) คำร้องโดยนาย Bixio Cherubini (๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๗-๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๗/พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๓๐) ในปี ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) ซึ่งบรรยายความรู้สึกของลูกชายที่อยู่ห่างไกลจากแม่ และมีความสุขมากที่ใกล้จะกลับมาหาแม่ จึงได้ฝากเสียงเพลงที่ร้องเฉพาะเพื่อแม่ให้โบยบินมาก่อน เมื่อคิดถึงเสียงกล่อมของแม่และอายุขัยของแม่ ลูกกลับมาแล้วจะไม่ปล่อยแม่อยู่ตามลำพังและจากแม่ไปไหนอีก เพราะแม่คือชีวิตจิตใจของลูกนั่นเอง
ผู้ร้องอัดแผ่นเสียงคนแรกในปี ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) และออกขายในปี ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) คือนาย Beniamino Gigli (๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๐-๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๗/พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๕๐๐) นักร้องอุปรากรเสียงสูงชาวอิตาลี ต่อมานักร้องอุปรากรชาวอิตาลี่อีกหลายคนก็ร้องเพลงนี้ รวมทั้งนาย Luciano Pavarotti (๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๕-๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๗/พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๕๕๐) และนาย Andrea Bocelli (๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๘/พ.ศ. ๒๕๐๑) ผู้มีปัญหาสายตามาตั้งแต่เกิด และตาบอดเมื่ออายุ ๑๒ ปี เนื่องจากอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น