วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

UN ระบุสู้’อีโบลา’คือการทำ’สงคราม’คาดต้องใช้เวลา 6 เดือนจึงจะเกิดผล

       เอเจนซีส์ – ผู้แทนสหประชาชาติชี้ “สงคราม” ต่อสู้กับเชื้ออีโบลาต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน ขณะที่นักวิชาการผู้ร่วมค้นพบไวรัสร้ายนี้ระบุการระบาดครั้งล่าสุดเป็นเพราะหลายปัจจัยส่งเสริม หนึ่งในนั้นคือความล่าช้าในการรับมือขององค์การระหว่างประเทศ เป็นต้นว่าองค์การอนามัยโลก ทางด้านไลบีเรีย 1 ในชาติแอฟริกาตะวันตกซึ่งกำลังเกิดการระบาดของเชื้อร้ายนี้ ประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งปลดบรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ยังไม่ยอมเดินทางกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการ “ยูเสด” ของสหรัฐฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า อีโบลาเป็นโรคที่ป้องกันง่ายกว่าไข้มาเลเรียเสียอีก โดยวิธีจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ประชาชน
       
       เดวิด นาบาร์โร แพทย์ชาวอังกฤษที่ได้รับแต่งตั้งจากสหประชาชาติ ให้เป็นผู้ประสานงานมาตรการรับมือวิกฤตโรคอีโบลาทั่วโลก แถลงเมื่อวันจันทร์ (24) ขณะอยู่ในกรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอนว่า ความพยายามในการจัดการกับอีโบลาไม่ได้เป็นเพียงแค่การต่อสู้ แต่เป็น “สงคราม” ที่ต้องการความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพจากทุกฝ่าย และคาดว่า ศึกครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลภายใน 6 เดือน
       
       ตามข้อมูลล่าสุดระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา การระบาดของอีโบลาระลอกนี้ได้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 2,600 คน และเสียชีวิต 1,427 คน ส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตก
       
       อย่างไรก็ดี นาบาร์โรสำทับว่า การที่หลายประเทศสั่งห้ามเที่ยวบินจากพวกประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ กำลังกลายเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของยูเอ็นในการหยุดยั้งการระบาดของอีโบลา
       
       ในวันเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงว่า มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เสียชีวิตไปมากกว่า 120 คน และติดเชื้อมากกว่า 240 คน แล้วในระหว่างการระบาดของโรคอีโบลาระลอกนี้ โดยที่ ฮู ระบุว่า ถือเป็น “การระบาดในระดับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ในหลายๆ ทาง หนึ่งในนั้นคือการที่มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ติดเชื้อในอัตราที่สูงมาก
       
       ต่อมาในวันอังคาร (25) ปีเตอร์ ปิอ็อต นักวิจัยเบลเยียมที่เป็นหนึ่งผู้ร่วมค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลา ได้ออกมากล่าวว่า “ปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างประจวบเหมาะ” ในแอฟริกาตะวันตกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ไวรัสนี้แพร่ระบาดออกไปอย่างชนิดไม่มีใครไหวตัวทัน
       ปิอ็อตเสริมว่า การระบาดของไวรัสนี้ในระดับที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย และแจงว่า ปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมกันและกันอย่างประจวบเหมาะ ได้แก่การที่อีโบลาระบาดในหมู่ประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอมากจากการเกิดสงครามการเมืองมายาวนานนับสิบปี มิหนำซ้ำประชาชนยังเคลือบแคลงสงสัยในเจ้าหน้าที่ราชการ
       
       นักวิจัยผู้นี้ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการของยูเอ็นเอดส์ และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของสถาบันลอนดอน สกูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคัล เมดิซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนมากที่สุดของโลก ยังวิจารณ์ความล่าช้าในการตอบสนองของบรรดาองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ฮู ที่เพิ่งตื่นตัวเรื่องนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทั้งที่อีโบลาเริ่มระบาดระลอกนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหวั่นวิตกต่อการระบาดของโรคนี้ทั่วโลก เจเรมี โคนินดิก ผู้อำนวยการขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเสด) ได้แถลงให้ความหวังว่า การที่ประชาชนทั่วไปขาดความรู้ความเข้าใจในไวรัสนี้ เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับการระบาด ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราสามารถป้องกันเชื้ออีโบลาได้ง่ายกว่าเชื้อไข้มาเลเรียเสียอีก ทั้งนี้ การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะอีโบลา
       
       โคนินดิกแถลงเรื่องนี้ขณะอยู่ระหว่างเยือนไลบีเรีย ประเทศซึ่งโรคอีโบลาระบาดรุนแรงที่สุดในเวลานี้ โดยมีผู้เสียชีวิตในระลอกนี้แล้ว 624 คน
       
       นอกจากทำให้มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อแล้ว อีโบลายังเป็นสาเหตุให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไลบีเรียจำนวนหนึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ที่ให้อยู่แต่ภายในประเทศ และหากอยู่ในต่างประเทศก็ให้รีบเดินทางกลับบ้าน
       
       คำแถลงระบุเรื่องปลดรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศนี้ ปรากฏในคำแถลงฉบับหนึ่งของสำนักงานประธานาธิบดีไลบีเรียซึ่งออกในคืนวันจันทร์ (25) ทว่าไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีใครบ้างถูกปลด และถูกปลดไปเป็นจำนวนกี่คน
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น