วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชาวเกาะโซโลมอน ผู้ช่วยชีวิต “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” เสียชีวิตแล้วในวัย 93 ปี


ชาวเกาะโซโลมอน ผู้ช่วยชีวิต จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อคราวเรือพิฆาตญี่ปุ่นจมเรือลาดตระเวนของชายผู้ที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสียชีวิตลงแล้วในวัย 93 ปี ครอบครัวของเขาเผยวันจันทร์ (4)
อิโรนี คูมานา และเพื่อนของเขา บูคู กาซา ออกมาจากชายฝั่งพร้อมเรือแคนูเมื่อปี 1943 เมื่อครั้งที่พวกเขาได้พบกับ เคนเนดี ซึ่งตอนนั้นมียศเรือโท ที่ได้รับบาดเจ็บโดยบังเอิญ พร้อมกับสมาชิกลูกเรือของเขาที่ติดอยู่บนเกาะปะการังแห่งหนึ่ง
พวกเขาช่วยชาวอเมริกันกลุ่มนี้ให้รอดตาย และต่อมา เคนเนดี ก็ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ ซึ่งเขายังคงเก็บกะลามะพร้าวจากประสบการณ์ที่แสนสาหัสในครั้งนั้น ซึ่งถูกใช้เป็นที่ทับกระดาษบนโต๊ะทำงานทำเนียบขาวของเขา
อีโซริ ลูกชายของคูมานา กล่าวว่า พ่อของเขาสิ้นใจท่ามกลางสมาชิกครอบครัวที่อยู่ห้อมล้อมเมื่อวันเสาร์ (2) ด้วยวัย 93 ปี และได้รับการฝังศพบนเกาะ โรนองกา บ้านเกิดของเขาในวันจันทร์ (4)
“มันช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่เขาก็ได้ใช้ชีวิตมาอย่างเต็มที่แล้วและพวกเราก็ภูมิใจในตัวเขา” เขาบอกกับเอเอฟพี ผ่านโทรศัพท์จากเกาะดังกล่าว ที่ซึ่งชาวบ้านกำลังจัดเตรียมงานฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่คูมานา
picture from  http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/7a/GuadCoastwatcher.gif/250px-GuadCoastwatcher.gif
 นิตยสาร Smithsonian เผยว่า ขณะที่เรือพีที -109 ของเคนเนดีกำลังลาดตระเวนในตอนดึกอยู่นั้น เรือพิฆาตของแดนอาทิตย์อุทัยก็ค่อยๆ เผยตัวออกมาจากความมืดมิดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และได้แล่นปะทะเรือที่ทำด้วยไม้จนหักครึ่งลำ
น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทะลักออกมาก่อให้เกิดการลุกไหม้ในน้ำ ทำให้ทั้งเรือญี่ปุ่นและกองเรือพีทีของสหรัฐฯลำอื่นๆ คิดว่าลูกเรือ 13 คนของเรือพีที -109 เสียชีวิตทั้งหมดแล้วในน่านน้ำที่มีฉลามชุกชุม
แต่แท้จริงแล้ว ลูกเรืออีก 11 คนยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อรุ่งเช้ามาถึง เคนเนดีนำลูกเรือของเขาว่ายน้ำเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากซากเรือไปยังเกาะปะการัง
เคนเนดี ที่เจ็บปวดจากหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกอยู่แล้ว ยังต้องลากลูกเรือที่มีแผลไหม้เหวอะหวะไว้ข้างหลังระหว่างการว่ายน้ำมาราธอนด้วย
ในท้ายที่สุด คูมานา และ กาซา ก็พายเรือแคนูของพวกเขาเข้ามาหา พวกเขาช่วยหาอาหารให้บรรดาลูกเรือ และเคนเนดีก็ได้ส่งพวกเขาออกไปขอความช่วยเหลือด้วยข้อความที่สลักไว้ในกะลามะพร้าว ซึ่งเขียนว่า “ ผู้บัญชาการเกาะนาอูรู/ชนพื้นเมืองรู้ตำแหน่ง/พวกเขานำทางได้/รอด 11/ต้องการเรือเล็ก/เคนเนดี”
หลังจากได้รับการช่วยชีวิตแล้ว เคนเนดี นำกะลามะพร้าวลูกนั้นกลับมาและใช้พลาสติกห่อหุ้มมันไว้อย่างมิดชิด เขาใช้มันเป็นที่ทับกระดาษตลอดอาชีพทางการเมืองช่วงหลังสงครามของเขา ซึ่งปัจจุบันนี้มันคงถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เคนเนดีในเมืองบอสตัน
คูมานา และ กาซา ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ เคนเนดี เมื่อปี 1961 แต่พวกเขาไม่สามารถเดินเข้าไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้
ทั้งนี้ เคนเนดี ถูกลอบสังหารเมื่อปี 1963 ขณะที่ กาซา เสียชีวิตเมื่อปี 2005

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น