วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

เรื่องของโรคตา -โรคตาต้อ ต้อลม ต้อกระจก ต้อหิน

โรคต้อกระจก
ต้อกระจก เกิดจากเลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ต้อกระจก ทำให้การมองเห็นแย่ลง ผู้ที่มีอาการของต้อกระจกมักจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนปกติ บางครั้งมองเห็นได้ชัดเจนกว่าในที่มีแสงน้อย เนื่องจากอาการของต้อกระจกส่วนใหญ่ เลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นมัวจากบริเวณส่วนกลาง ในที่มีแสงน้อย เมื่อม่านตาขยาย แสงสามารถผ่านเข้ามาทางส่วนอื่นของเลนส์แก้วตาได้ ต้อกระจกสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกเช่น ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ไฟดูด หรือการติดเชื้อเรื้อรังที่ดวงตา และการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้ด้วยเช่นกัน
ต้อเนื้อและต้อลม
เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยมาก แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแบบต้อหินและต้อกระจก ต้อเนื้อเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเยื่อบุตา (ตาขาว) มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อสีแดงๆ รูปสามเหลี่ยมงอกจากเยื่อบุตาลามเข้าไปบนกระจกตา (ตาดำ) มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ต้อเนื้อจะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่มักเป็นนานร่วมสิบปีจึงจะรู้สึกว่าเป็นมากขึ้น ถ้าเป็นมากจะลามเข้าถึงกลางกระจกตาปิดบังการมองเห็นบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวได้
ต้อลมเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับต้อเนื้อแต่เป็นน้อยกว่า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาว หรือเหลืองอยู่ข้างๆ กระจกตา แต่ไม่ได้ลุกลามไปบนกระจกตา
ต้อเนื้อและต้อลมอาจมีการอักเสบได้ ทำให้เยื่อบุตาบริเวณนั้นแดง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บตาและเคืองตา
สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อและต้อลม
ต้อเนื้อและต้อลม เกิดจากการที่ตาได้รับรังสีอุลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นเวลานานร่วมกับการโดนฝุ่นละออง ควัน ลม ความแห้งแล้ง อากาศร้อนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา โรคนี้จึงมักเกิดกับผู้ที่อยู่ในเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง มีหลายคนเข้าใจผิดว่าต้อเนื้อเกิดจากการรับประทานเนื้อ จึงป้องกันโดยการไม่รับประทานเนื้อ เพราะกลัวว่าจะทำให้เป็นมากขึ้นซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทาน คำว่า “เนื้อ” ในที่นี้มาจากลักษณะของโรคที่เห็นเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา
อาการ
ผู้ที่เป็นต้อเนื้อและต้อลม จะมีอาการเคืองตา แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้ง โดนแดด โดนลม ในผู้ที่เป็นน้อยมักไม่มีอาการผิดปกติ โดยทั่วไปต้อเนื้อและต้อลมจะไม่ทำให้เกิดอาการตามัว ยกเว้นในรายที่ต้อเนื้อเป็นมากจนลามเข้ามากลางกระจกตา บังการมองเห็นจึงจะมีอาการตามัว
การรักษา
• ใส่แว่นกันแดด ในเวลาที่ออกกลางแจ้งเพื่อลดอาการต่างๆ ทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น
• ต้อลมและต้อเนื้อที่เป็นไม่มาก ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้โดยไม่มีอันตราย
• ให้ยาหยอดตา ผู้ที่เป็นต้อลมและต้อเนื้อถ้ามีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อและต้อลมหายไปได้
• การผ่าตัด ในผู้ที่เป็นต้อเนื้อซึ่งลุกลามเข้าไปบนกระจกตาขนาดพอสมควร แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่าตัด ส่วนต้อลมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะเป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ ที่ไม่มีอันตรายต่อตา
การผ่าตัดลอกต้อเนื้อ
ต้อเนื้อแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่การผ่าตัดลอกต้อเนื้อควรทำโดยจักษุแพทย์ เพราะในบางรายที่ลอกต้อเนื้อไปแล้วอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งเมื่อเป็นซ้ำมักจะมีลักษณะที่หนาและแดงกว่าเดิม และการรักษาโดยการลอกอีกครั้งจะทำยากกว่าการลอกครั้งแรก
การผ่าตัดลอกต้อเนื้อทำได้หลายวิธีคือ
1. ลอกต้อเนื้อโดยวิธีธรรมดา ทำโดยตัดต้อเนื้อออกจากเยื่อบุตา และลอกต้อส่วนที่ติดอยู่บนกระจกตาออก
2. ลอกต้อเนื้อตามวิธีที่ 1 ร่วมกับการวางแร่ซึ่งจะให้รังสีเบต้าออกมา ป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้
3. ลอกต้อเนื้อตามวิธีที่ 1 ร่วมกับการตัดเอาเยื่อบุตาที่ปกติจากส่วนบนของลูกตา มาปะลงบริเวณตาขาวที่ได้รับการลอกต้อเนื้อออกไปแล้ว เป็นการป้องกันการกลับเป็นซ้ำซึ่งได้ผลดีมากกว่าวิธีอื่นๆ
4. ทำผ่าตัดเช่นเดียวกับวิธีที่ 3 แต่ใช้เยื่อหุ้มรกซึ่งผ่านการเตรียมและเก็บรักษาไว้ มาใช้ปะแทนเยื่อบุตา
7 คำถาม ตาต้อ (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ รักษ์ “ดวงตา” โดย ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
“ตาต้อ” เป็นกลุ่มของโรคตา “ต้อ” ที่มีลักษณะแตกต่างกัน วันนี้มาทำความรู้จัก “ตาต้อ” ด้วย 7 คำถามต่อไปนี้กันดีกว่า
1.โรคต้อของตามีกี่โรค และมีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ คำว่าต้อเป็นคำทั่วไปหมายถึงตา ดังนั้น เมื่อบอกว่าเป็นโรคต้อ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด ที่พบบ่อย ๆ และควรทราบ เรียงลำดับตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้
1) โรคต้อลม (Pinguecular)
มีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้าง ๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา (เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด) มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด
2) โรคต้อเนื้อ (Pterygium)
โรคต้อเนื้อเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อ เมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด
3) โรคต้อกระจก (Cataract)
โรคต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาว ๆ บัง มักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาก็ได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยจนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา
4) โรคต้อหิน (Glaucoma)
ต้อหินเป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) น้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนกระทั่งกดขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการเสียของลานสายตาการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทได้ในที่สุด
ส่วนโรคต้ออื่น ๆ ที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น เช่น ต้อลิ้นหมา คือต้อเนื้อ หรือโรคต้อลำไย คือต้อหินแต่กำเนิด เป็นต้น
2.โรคต้อลม สาเหตุเกิดจากลม การใส่แว่นจะป้องกันโรคได้หรือไม่
ตอบ สิ่งระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของโรคต้อลม เป็นไปได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้า ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคต้อลมแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นต้อลมอยู่แล้ว มีอาการเคืองตามากขึ้น ซึ่งต้อลมจะลุกลามมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองดังกล่าว แว่นตามักช่วยกันลมเฉพาะจากทางด้านหน้า จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันทั้งลม ฝุ่น และแสงแดด ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดจึงควรให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้า ๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า
3.โรคต้อเนื้อ เกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงหรือไม่
ตอบ โรคต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด แม้มีลักษณะคล้ายเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้มีคามสัมพันธ์กับอาหารประเภทเนื้อ และการกินอาหารประเภทเนื้อหลังการลอกต้อเนื้อ ก็ไม่ทำให้แผลเกิดการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่แต่อย่างใด
4.โรคต้อกระจกจำเป็นต้องเป็นทุกคนหรือไม่
ตอบ โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตาซึ่งควรมีลักษณะใส กลับมีสีขาวหรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น
เมื่อมนุษย์ทุกคนมีอายุมากขึ้นจะต้องเกิดการเสื่อมของเลนส์ตาทุกคน เมื่อการขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดปัญหาตามัวจะเรียกว่าเป็นโรคต้อกระจก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
5.โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้หรือไม่
ตอบ ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตา หรือยากินที่สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาดได้ การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด (หรืออาจเรียกว่าลอกต้อ) เอาเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออกอาจใช้วิธีดันออก หรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) สลายออกก็ได้ แต่ยังไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก
6.โรคต้อหิน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเสมอไปหรือไม่ และการผ่าตัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ตอบ โรคต้อหินมีหลายชนิด ดังนั้นการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยลอดตาลดความดันตา ยากินลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัดโดยในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งใด ๆ ออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) ออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา
7.โรคต้อต่าง ๆ เป็นโรคกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ โรคต้อลมและต้อเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามสภาพ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่โรคต้อกระจกที่เกิดในเด็ก หรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ส่วนโรคต้อหินอาจเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน 40 ปี ควรได้รับการตรวจวัดความดันตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น