วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

การประชุมภูมิอากาศโลก UN มุ่ง “ลดการทำลายป่า-ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน” แก้โลกร้อน

       รอยเตอร์ – รัฐบาลนานาชาติประกาศผนึกกำลังต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจังวานนี้(23) โดยมีการระดมเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้เปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และปูทางไปสู่การลงนามข้อตกลงสากลว่าด้วยการแก้ไขปัญหาโลกร้อนแบบครอบคลุมในปี 2015
       
       การประชุมสุดยอดผู้นำยูเอ็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมี บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นประธานการประชุมที่นครนิวยอร์กเมื่อวานนี้(23) ได้ตั้งเป้าที่จะลดการทำลายผืนป่าเขตร้อน รวมถึงปรับปรุงการผลิตอาหาร และเพิ่มสัดส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ภายในปี 2030
       
       ความริเริ่มซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายนี้ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลต่างๆ ตลอดจนบริษัทข้ามชาติ เมือง กลุ่มธุรกิจการเงิน นักลงทุน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรประเภทอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การลงนามข้อตกลงสากลว่าด้วยการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างประชุมซัมมิตยูเอ็นที่กรุงปารีสในช่วงปลายปี 2015
       
       ปัจจุบันนี้ การรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่จะมักให้ความสำคัญต่อปัญหาสังคมด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างงาน เป็นต้น
       
       รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงนักลงทุนให้คำมั่นที่จะระดมเงินอุดหนุนกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสู้ปัญหาโลกร้อนภายในสิ้นปี 2015 ในจำนวนนี้รวมถึงการออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (green bonds) มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยธนาคารต่างๆ และวงเงินช่วยเหลือราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนา
       บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เอ่ยถึงวงเงินดังกล่าวว่า “เงินก้อนนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่การทำข้อตกลงสากลว่าด้วยการต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีความหมายอย่างสมบูรณ์ที่กรุงปารีส ในปี 2015”
       
       ถ้อยแถลงจากยูเอ็นระบุว่า คำสัญญาเรื่องวงเงินสนับสนุนจะเป็น “พลังขับเคลื่อน” นำไปสู่เป้าหมายของบรรดาประเทศร่ำรวย ซึ่งต้องการระดมทุนให้ได้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีภายในปี 2020 จากทุกๆแหล่งเพื่อส่งเสริมประเทศยากจนให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนรับมือกับคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง
       
       นอกจากนี้ พันธมิตร 30 ประเทศรวมถึงสหรัฐฯและกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ยังตั้งเป้าที่จะลดการสูญเสียผืนป่าลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 และหยุดการทำลายป่าไม้โดยสิ้นเชิงภายในปี 2030 ซึ่งหากมาตรการเหล่านี้ทำได้จริงก็จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ระหว่าง 4,500-8,800 ล้านตันต่อปี หรือเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากท่อไอเสียรถยนต์ 1,000 ล้านคันทั่วโลก
       
       ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และจะปลดปล่อยก๊าซเหล่านั้นออกมาเมื่อมันตาย ดังนั้น การเผาป่าเพื่อแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมตั้งแต่แถบแอมะซอนเรื่อยไปจนถึงคองโกจึงเป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 5 ของทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
       
       เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ๆ เช่น วอลมาร์ท, ยูนิลีเวอร์, วิลมาร์ อินเทอร์เนชันแนล, เจเนอรัล มิลส์, เอเชียพัลพ์ และ เปเปอร์ แอนด์ เนสท์เล ตลอดจนกลุ่มเอ็นจีโอและสมาคมชนพื้นเมืองต่างๆ ได้ร่วมลงนามในแผนปฏิบัติการนี้ ขณะที่อังกฤษ, เยอรมนี และนอร์เวย์ ประกาศสนับสนุนเงินทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในส่วนของนอร์เวย์เองนั้นระบุว่าจะมอบเงินช่วยเหลือแก่เปรูสูงสุด 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ไลบีเรีย
       แนวทางลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการพูดถึงด้วยก็คือ การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้าใน 19 ประเทศทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของแอฟริกาให้เพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์
       
       กลุ่มประเทศขนาดใหญ่และบริษัทพลังงานเช่น อีเอ็นไอ ของอิตาลี และเซาท์เวสเทิร์น เอเนอร์จี ของสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมลงนามแผนลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์
       
       ด้านผู้ผลิตอาหาร เช่น แมคโดนัลด์ และเคลล็อกก์ ก็ให้คำมั่นว่าจะส่งเสริม “การเกษตรแบบฉลาดอนุรักษ์สภาพอากาศ” (climate-smart agriculture) เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน และปรับปรุงผลผลิตให้สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น