วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

องค์การปรมาณูญี่ปุ่น “ไฟเขียว” ให้เปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เป็นครั้งแรก

      รอยเตอร์ – องค์การพลังงานปรมาณูแห่งญี่ปุ่น (เอ็นอาร์เอ) ได้เปิดไฟเขียวให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติได้อีกครั้งวันนี้ (10 ก.ย.) โดยนับเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นอุตสาหกรรมที่ถูกสั่งระงับใหม่อีกครั้ง และอาจนำไปสู่การเปิดใช้โรงไฟฟ้าเก่านับสิบแห่งที่ถูกปิดใช้งานเป็นการถาวรอีกครั้ง
       
       เอ็นอาร์เอระบุให้ โรงไฟฟ้าเซ็นได ที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง ของบริษัทคิวชูอิเล็กทริกพาวเวอร์ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น กลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง แม้ว่าจะยังต้องรอการอนุมัติจากบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบในพื้นที่
      ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ใช้มานานหนึ่งปีเต็มเป็นครั้งแรก นับแต่ปี 1966 ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว และประชาชนยังคงไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างมาก หลังเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อปี 2011 ซึ่งนับเป็นมหันตภัยทางปรมาณูครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เกิดหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเเมื่อปี 1986
       
       รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยกำลังกดดันให้บรรดาหน่วยงานที่ควบคุมพลังงานปรมาณูตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า จะปลดระวางเตาปฏิกรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ 48 เครื่อง ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานด้านปลอดภัยอันเข้มงวดกวดขันมากกว่าเครื่องอื่นๆ หรือไม่
       
       การปลดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้งานมานาน 40 ปีหรือเก่ากว่านั้น อาจช่วยให้สาธารณชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในอุตสาหกรรมปรมาณูมากขึ้น
       
       เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยูโกะ โอบุชิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมคนใหม่ ซึ่งควบคุมดูแลอุตสาหกรรมนิวเคลียร์กล่าวว่า “สำหรับดิฉัน ดิฉันต้องการทยอยปลดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (ในโรงไฟฟ้าบางแห่ง) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมกันนี้ก็จะเปิดใช้โรงไฟฟ้าที่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยไปด้วย”
       
       ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลักดันให้มีการเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และการอนุมัติของเอ็นอาร์เออีกครั้ง เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าราคาแพงลงได้
       
       อาร์นี กุนเดอร์เซน นักวิจารณ์พลังงานนิวเคลียร์ตัวยง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพลังงาน “แฟร์วินด์ส” ชี้ว่า การผลักดันให้มีการประเมินความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าบางแห่งถือเป็น “ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล และบริษัทผู้บริหารโรงไฟฟ้ากำหนดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อส่งสัญญาณถึงชาวญี่ปุ่นว่า พวกเขารับฟัง และคำนึงถึงบทเรียนที่ได้รับจากอุบัติภัยฟูกูชิมะ”
       
       กุนเดอร์สัน วิศวกรปรมาณูชาวอเมริกันผู้มากประสบการณ์ และมีจุดยืนต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยคำนึงถึงเหตุผลด้านความปลอดภัย ระบุผ่านอีเมลว่า “แต่ยุทธศาสตร์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาท้าท้าย ที่โรงไฟฟ้าต้องเผชิญ ในการระดมทุนเพื่อยกเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เก่าๆ ให้กลับมาอยู่ในระดับมาตรฐานจนสามารถผ่านการอนุมัติของเอ็นเออาร์ได้”
       
       กฎระเบียบที่กำหนดขึ้นมาภายหลังอุบัติภัยฟูกูชิมะกำหนดว่า เตาปฏิกรณ์ที่ผ่านการใช้งานมานานกว่า 40 ปีจะต้องถูกปลดระวาง แต่อาจมีการยืดอายุการใช้งานออกไปอีก 20 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอันเข้มงวด และนำไปสู่การซ่อมบำรุงที่มีราคาสูง
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ในปีนี้ชี้ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นมากถึง 2 ใน 3 ของ จากทั้งสิ้น 48 เครื่อง อาจไม่มีโอกาสได้กลับมาเปิดใช้งานอีกแล้ว เนื่องจากต้องใช้เงินมหาศาลในการซ่อมแซม และได้รับกระแสต่อต้านจากคนในท้องถิ่น ตลอดจนยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ ส่วนอีก 1 ใน 3 ยังมีโอกาสกลับมาเดินเครื่องใหม่ได้ในที่สุด
       
       เอ็นอาร์เอได้อนุมัติให้ให้โรงไฟฟ้าเซ็นไดผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสุดท้ายในที่ประชุมวันนี้ (10) ภายหลังได้อนุมัติให้เตาปฏิกรณ์ 2 เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยในขั้นต้น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น