วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

เห็ดหูหนู : สุดยอดของเห็ด

เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่หาง่าย ราคาไม่แพง มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะอาหารจีนเท่านั้น ปัจจุบันเป็นอาหารทั่วไป เช่น ผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู เป็นต้น เรียกว่า เป็นอาหารที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย
เห็ดหูหนูมีอยู่ ๒ ชนิด
๑. เห็ดหูหนูขาว
๒. เห็ดหูหนูดำ
• เห็ดหูหนูขาว
ได้ถูกยกย่องเป็น สุดยอดของเห็ด สมัยก่อนเป็นเห็ดที่พบได้น้อยตามธรรมชาติ ราคาแพง เป็นอาหารบำรุงสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวย แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ทำให้ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีการระบาดของวัณโรค ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หลังเที่ยงวัน ไอแห้งๆ มีเสมหะปนเลือด มีการใช้เห็ดหูหนูขาวบำรุงรักษา เสริมกับยา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูขาว มีส่วนประกอบของโปรตีน ไขมัน น้ำตาล ไฟเบอร์ กรดอะมิโน วิตามิน และสารจำเป็นต่างๆ รวมทั้งน้ำมันยางอย่างอุดมสมบูรณ์
สรรพคุณที่สำคัญ คือ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น (ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบ) มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อน ภายหลังการฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง
สรรพคุณทางยาจีน เสริมบำรุงสารน้ำของปอด บำรุงไต ทำให้เกิดสารน้ำ หยุดไอ (ไอที่เกิดจากปอดแห้ง ไอแห้งๆ มีเลือดปน) บำรุงพลัง บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง มีฤทธิ์สงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ
การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
เนื่องจากเห็ดหูหนูขาวมีคุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น มีรสหวาน จึงมีคุณสมบัติบำรุง เสริมธาตุน้ำ และวิ่งเส้นลมปราณปอด (สีขาวเป็นสีของปอด) มักใช้บำรุงร่างกาย คนสูงอายุ ที่มีอาการป่วยไข้เรื้อรัง ทำให้พลังและยินพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะปนเลือด คนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือหลอดเลือดหัวใจตีบในเวลาต่อมา
• เห็ดหูหนูดำ
ได้ชื่อว่า “อาหารคาวของอาหารเจ” ในทางแพทย์จีน ถือว่าเป็นยาบำรุงเลือดและพลัง มีส่วนประกอบคล้ายกับเห็ดหูหนูขาว คุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น รสหวาน วิ่งเส้นลม-ปราณไต (สีดำเป็นสีของไต) เป็นเห็ดที่ได้รับพลังยินสะสม ทำให้ลดความร้อน หรือเกิดความเย็นแก่กระเพาะอาหารได้
การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
มักนำมาเป็นอาหารสำหรับคนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็งตัว นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต วัณโรค ไอแห้งๆ อุจจาระเป็นเลือด ป้องกันมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูดำมีน้ำมันยางธรรมชาติและสารใยไฟเบอร์ ช่วยในการระบายขับของเสียในลำไส้ มีฤทธิ์การต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และคุณสมบัติการลดไขมันในเลือด ซึ่งเป็นอาหารที่ เหมาะกับคนสูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคหัวใจ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เย็นกว่าเห็ดหูหนูขาว มีฤทธิ์ในการลดความร้อนของเลือด หยุดเลือด เช่น ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (ซึ่งเกิดจากความร้อนของระบบเลือด) คนที่ภาวะร่างกาย เย็นเกินไป และมีอาการดังกล่าว ต้องพิจารณาเสริมบำรุงด้านอื่นประกอบ จึงไม่แนะนำให้กินเห็ดหูหนูในช่วงกลางคืน ขณะที่หยางร่างกายอ่อนลง และมีภาวะยินของธรรมชาติมาก
ข้อเปรียบเทียบเห็ดหูหนูขาว-เห็ดหูหนูดำ
• ข้อเหมือนกัน
- คุณสมบัติ ไม่ร้อน-ไม่เย็น
- รสหวาน
- ส่วนประกอบ
- ต้านมะเร็ง ลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือดสูง หลอดเลือดตีบ
• ข้อต่างกัน
เห็ดหูหนูขาว
๑. วิ่งเส้นลมปราณปอด
๒. บำรุงพลังหยินของปอด
๓. จุดเด่นที่วัณโรคปอด ไอแห้งๆ ไอมีเลือดปน (เนื่องจากปอดแห้ง ขาดสารยินหล่อเลี้ยง) เลือดกำเดาออก คอแห้ง เบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะ-อาหารแห้ง
เห็ดหูหนูดำ
๑. วิ่งเส้นลมปราณไต
๒. บำรุงพลังเลือดยินของไต (บำรุงสมอง)
๓. จุดเด่น เลือดออกเนื่องจากเลือดร้อน โดยเฉพาะอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร โรคบิด (เนื่องจากเลือดร้อน)
หมายเหตุ : คุณสมบัติคล้ายกัน แต่การออกฤทธิ์ของเห็ดหูหนูขาวจะออกฤทธิ์ที่ปอดและกระเพาะอาหาร ส่วนเห็ดหูหนูดำจะออกฤทธิ์ที่ไตและตับ
เห็ดหูหนูนับเป็นอาหารสำหรับสุขภาพที่ดี ราคาถูก หาซื้อง่าย เป็น “สุดยอดของเห็ด” เพราะสอดคล้องกับ โรคยอดฮิตในปัจจุบัน คือ โรคหัวใจ โรค มะเร็ง โรคความดันเลือดสูง โรคไขมัน ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุ สำคัญของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ข้อควรระวัง อาหารเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น คนที่ระบบการ ย่อยอาหาร หรือมีภาวะของร่างกายค่อนไปทางเย็นมากๆ ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย และระมัดระวังไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน ควรกินในช่วงกลางวัน น่าจะเหมาะสมกว่า หลักการแพทย์ของจีนเน้นถึงสภาพอาหารที่เหมาะสม ควรพิจารณาองค์ประกอบ เงื่อนไขบุคคล เงื่อนไขเวลา และภูมิประเทศ (สถานที่) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง
ตำรับอาหารอย่างง่าย
๑. เห็ดหูหนูขาวตุ๋นน้ำตาลกรวด : ใส่เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพองตัว ล้างสะอาด เติมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ตุ๋นรวมกันด้วยไฟอ่อนๆ ๑ ชั่วโมง
สรรพคุณ : วัณโรค ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งตัว บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้น สวยงาม
๒. โจ๊กเห็ดหูหนูดำ : เห็ดหูหนูดำ ๑๐ กรัม แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด พุทราแดง ๕ ผล ข้าวสาร ๑ ช้อนโต๊ะ ใส่ต้มพร้อมกันในหม้อ ต้มจนละเอียด ค่อยเติมน้ำตาลกรวดพอประมาณ
สรรพคุณ : แก้เลือดจาง อ่อนเพลีย ไอเป็นเลือด หอบหืด ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ
๓. ซุปเห็ดหูหนูขาว : ใช้เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด เนื้อหมู ๒๐๐ กรัม ขิงสด ๓ แผ่น ใส่ในหม้อต้มรวมกันจนสุกดี เติมเกลือปริมาณเล็กน้อยเพื่อปรับรสชาติ
สรรพคุณ : บำรุงเลือดพลังพร่อง เวียนศีรษะ หอบหืด อ่อนเพลีย เป็นอาหารบำรุงฟื้นฟูสุขภาพที่ดีตำรับหนึ่ง
mor(2)-29-09-2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น