วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

ข่าวร้ายชาวสวนยาง! นักวิทย์นานาชาติ เร่งพัฒนาพืชทดแทน

ตอนนี้มีอย่างน้อย 3 ชาติ กำลังเร่งมือแข่งขันกันพัฒนาสายพันธุ์ของวัชพืชชนิดหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้สามารถให้น้ำยางได้มากพอสำหรับการเพาะปลูกในระดับอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อใช้มันทดแทนยางพารา ป้อนให้กับอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ในอนาคต 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ที่กำลังพัฒนาทั้งในแง่ของสายพันธุ์ และในแง่ของกรรมวิธีนำเอายางจากรากของพืชชนิดนี้มาใช้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเก็บเป็นความลับกันอย่างเข้มงวด โดยมีผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ๆ ของโลกให้การสนับสนุนโครงการวิจัยแต่ละโครงการเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
พืชดังกล่าวคือ “เดนดิไลออน” วัชพืชคลุมดินที่พบเห็นทั่วไปในประเทศเขตหนาว ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชียกลาง เรื่อยไปจนถึงญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นเรียกตัมโปโปะ) แต่ในเมืองไทยไม่มี เดนดิไลออนมีดอกสีเหลือง ใบเรียวหยัก เว้าๆ แหว่งๆ เมื่อแก่จัดกลีบดอกร่วงเหลือเมล็ดที่มีก้านเป็นพู่สีขาว สำหรับใช้พยุงตัวให้เมล็ดพันธุ์ลอยตามลมแพร่กระจายไปทั่ว
ส่วนที่มีน้ำยางก็คือ ส่วนรากของมัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า มีน้ำยางที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับน้ำยางจากต้นยางพารา จัดอยู่ในเกรดที่สามารถนำมาผลิตยางรถยนต์ได้
หลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะคิดค้นยางสังเคราะห์ขึ้นมาใช้งานหลากหลายอย่างแล้วก็ตาม ยางรถยนต์ก็ยังจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติหรือยางพาราอยู่ดี เพื่อให้มียางรถยนต์ที่ผลิตได้ยังคงความยืดหยุ่นได้นาน ไม่มีรอยปริแตกเร็วและลุกลามไปเรื่อยๆ ยางรถยนต์นั่งทั่วไปต้องมีส่วนผสมของยางธรรมชาติ 10-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยางรถบรรทุก และยางล้อเครื่องบินยิ่งจำเป็นต้องใช้ส่วนผสมของยางธรรมชาติมากขึ้นไปอีก
การค้นพบยางจากรากเดนดิไลออนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นการย้อนนำเอาประวัติศาสตร์กลับมาใช้มากกว่าเนื่องจากเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าระหว่างเอเชียกับสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และสหภาพโซเวียตถูกตัดขาดออกจากกัน ประเทศเหล่านี้ก็อาศัยเดนดิไลออนนี่แหละเป็น “ยางในภาวะฉุกเฉิน” แม้ว่าผลผลิตตามธรรมชาติจะไม่คุ้มค่าเท่าใดนักก็ตาม
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทำก็คือ การปรับปรุงสายพันธ์ของเดนดิไลอออนสายพันธุ์คาซักสถาน (หรือเรียกอีกชื่อว่าสายพันธุ์รัสเซีย) ซึ่งเดิมมีรากที่ให้น้ำยางมากกว่าทุกสายพันธุ์อยู่แล้ว ให้มีรากใหญ่ขึ้นให้น้ำยางมากขึ้น นอกจากนั้น ก็ยังมีการพัฒนาจากต้นที่มีลำต้นเตี้ยๆ คลุมดิน ให้กลายเป็นพืชที่มีต้นชะลูดสูงราว 30 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว
ในสหรัฐอเมริกา โครงการปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ของเดนดิไลออนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก บริดจ์สโตน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก เน้นหนักไปในแนวทางใช้การตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็ม จากการทดลองปลูกในแปลงทดลองขนาดเล็กพบว่า ในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ราว 10,000 ตารางเมตร) เดนดิไลออนให้น้ำยางสูงถึง 1,500 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งดีพอๆ กับสวนยางพาราที่ให้ผลผลิตดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียเหมือนกัน
ที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้วิธีปรับปรุงสายพันธุ์ผ่านการผสม เพื่อปรับปรุงพันธุ์ตามปกติได้ผลผลิตราว 500 กิโลกรัมต่อเฮกแตร์ต่อปี และตั้งเป้าว่าจะพัฒนาให้ได้ถึง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกขนาดเท่าประเทศออสเตรียสามารถสร้างผลผลิตรองรับความต้องการยางธรรมชาติของทั้งโลกได้
แม้ว่าผู้ผลิตยางรถยนต์จะยืนยันว่า ยางจากเดนดิไลออนจะไม่นำมาใช้แทนที่ยางพารา แต่ใช้เพื่อเสริมซึ่งกันและกัน ป้องกันการขึ้นลงของราคา และการขาดแคลนเฉียบพลัน เมื่อยางถูกโจมตีโดยเชื้อราบางอย่าง ซึ่งทำให้ยางพาราไม่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศบราซิล แหล่งต้นกำเนิดของมันอีกต่อไป
แต่ข่าวนี้ก็คงถือเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวสวนยางพาราอยู่ดีนั่นเอง
lowenZ-17-09-2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น