วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

“โอบามา” เยือนถิ่นภารตะผูกสัมพันธ์ “โมดี” หวัง “อินเดีย” ช่วยคานอิทธิพล “จีน”

นับเป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกเฝ้าจับตารอสำหรับภารกิจเยือนอินเดียครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในแวดวงการทูตหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียแหวกธรรมเนียมไปรอรับผู้นำสหรัฐฯ ถึงลานจอดเครื่องบิน รวมถึงภาพการสวมกอดกันแบบ “หมี” (bear hug) ที่สะท้อนถึงมิตรภาพสุดแนบแน่น และ “เคมีที่เข้ากัน” ระหว่างสองผู้นำชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ของโลก
ใครเลยจะคิดว่า นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นี้เคยติดโผ “บุคคลไม่พึงประสงค์” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามเข้าประเทศ เมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน
หลังจากที่พรรคภารติยะชนตะของ โมดี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 และผลักให้ขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรคองเกรสอินเดียร่วงลงไปเป็นฝ่ายค้าน สหรัฐฯ ก็ไม่รอช้าที่จะลืมประวัติเสื่อมเสียด้านสิทธิมนุษยชนของ โมดี เมื่อครั้งยังเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต และเดินหน้าผูกมิตรกับผู้นำแดนภารตะคนใหม่ทันที
โอบามา เป็นประธานาธิบดีในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในพิธีสวนสนามฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียมอบให้แก่ผู้นำต่างชาติ ในขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ โอบามา ตอบรับคำเชิญของ โมดี แสดงให้เห็นว่า แดนภารตะกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกอย่างน่าจับตามอง และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า โมดี พร้อมที่จะฉีกกรอบปฏิบัติเดิมๆ ของอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยยอมผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจรายใดเป็นพิเศษ
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างคาดหวังว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และทำให้อินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง
แม้ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันอย่างสนิทชิดเชื้อ และทำกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น การบันทึกเทปรายการวิทยุและขึ้นเวทีเสวนา แต่ถึงกระนั้น โอบามา และ โมดี ก็ยอมรับต่อบรรดาผู้นำธุรกิจในอินเดียว่า การค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียยังเป็นเรื่องที่เปราะบาง
สินค้าจากอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้าสหรัฐฯ ขณะที่วอชิงตันก็ส่งออกสินค้าไปยังอินเดียได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่นั่นก็ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วยซ้ำ
โมดี ระบุว่า มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา และรับปากว่าเดลีจะลดทอนมาตรการกีดกันต่างๆ เพื่อปฏิรูปอินเดียให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น