วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

เฟดส่งสัญญาณชัดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อัปเกรดภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุว่ามีการขยายตัวมั่นคง ขณะที่ยอดว่างงานลดลงอย่างชัดเจน แต่ยังคงท่องคาถา “อดทน” ยืนยันไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย ส่งสัญญาณว่าเป้าหมายในการปรับนโยบายการเงินยังคงอยู่ที่เดือนมิถุนายนเช่นเดิม
เป็นไปตามความคาดหมายของตลาด คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ประกาศเมื่อวันพุธ (28ม.ค.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ใกล้ๆ 0% ซึ่งได้เริ่มต้นใช้มานับจากปลายปี 2008 เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยรุนแรง
ในคำแถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 2 วันคราวนี้ เฟดระบุว่า ยังอดทนรอได้ก่อนที่จะเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ
คำว่า “อดทน” นี้ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ในคำแถลงภายหลังประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และได้รับคำอธิบายจากเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดว่า หมายความว่าเฟดไม่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยภายในการประชุมเดือนมกราคมและมีนาคมนี้
ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จึงพากันคาดการณ์ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเอฟโอเอ็มซีกลางเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม นอกจากจะมีการพิจารณาปรับปรุงข้อมูลเศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยแล้ว ตามกำหนดการยังจะมีการแถลงข่าวโดยเยลเลนด้วย จึงคาดกันว่าจะได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของเฟดซึ่งชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับในคำแถลงล่าสุดคราวนี้ เอฟโอเอ็มซีระบุว่า ช่วง 6 สัปดาห์นับจากการประชุมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข้อมูลหลายส่วนบ่งชี้ว่า “กิจกรรมเศรษฐกิจมีการขยายตัวในจังหวะที่มั่นคง” ซึ่งเป็นการยกระดับการคาดการณ์จากคำแถลงเดือนที่แล้วที่ระบุว่า “เศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
เอฟโอเอ็มซียังเสริมว่า ตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 5.6% ในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวถึง 5% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่เฟดตั้งข้อสังเกตว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของระบบเศรษฐกิจ ขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน
เฟดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2% และคาดว่า จะลดลงต่อไปตามสถานการณ์ราคาพลังงาน กระนั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังคงมีเสถียรภาพ
เอฟโอเอ็มซีนั้นมีภารกิจท้าทายในการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินมากว่า 6 ปี หลังจากวิกฤตการเงินปี 2008 โดยเยลเลนเป็นผู้ควบคุมดูแลการทยอยยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ จนยุติมาตรการนี้ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จากการที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปีเช่นนี้ ได้หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากสินทรัพย์สกุลเงินตราสหรัฐฯ ในยามที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ แทบทั้งหมดยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่เพิ่งประกาศมาตรการซื้อสินทรัพย์มูลค่าถึง 1 ล้านล้านยูโรเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และล่าสุดคือธนาคารกลางสิงคโปร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
แม้คำแถลงของเฟดคราวนี้ ไม่พาดพิงถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอโดยตรง แต่มีการระบุว่า เฟดจะพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ “ระหว่างประเทศ” ประกอบการตัดสินใจกำหนดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0 – 0.25%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น