วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

โอบามากับนโยบายต่างประเทศแบบ “ไร้ทิศทาง” หลังยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” เหลวไม่เป็นท่า

หากลองมองย้อนหลังกลับไปเมื่อช่วงกลางปี 2012 ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกาศแนวนโยบายต่างประเทศใหม่ของสหรัฐฯ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นการ “ปักหมุดในเอเชีย” หรือ “Pivot to Asia” ในช่วงปลายสมัยแรกของการบริหารประเทศของบารัค โอบามานั้น ถือเป็นหนึ่งในประเด็นข่าวการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ถูกจับจ้องและได้รับความสนใจมากที่สุดจากผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย ทวีปที่ถือเป็นบ้านของประชากรราวร้อยละ 60 ของโลก และยังมีพื้นที่คิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั่วทั้งโลก
ย้อนกลับไปในคราวนั้น หลายต่อหลายคนพากันตื่นเต้นไปกับการประกาศ “ปักหมุด” ของรัฐบาลวอชิงตันในเอเชียหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ “หันหลัง” ให้กับเอเชียไปนานนับทศวรรษ เพื่อไปขลุกอยู่กับความเป็นไปและผลประโยชน์ที่ยั่วน้ำลายมากกว่า ทั้งในยุโรปและภูมิภาคตะวันออกกลาง
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในยุคบารัค โอบามา ด้วยการ “เปลี่ยนจุดโฟกัส” จากยุโรปและตะวันออกกลาง มาสู่เอเชียและแปซิฟิก จึงถือเป็นการเปลี่ยน-ปรับเชิงนโยบายครั้งใหญ่ท่ามกลางภาวะแวดล้อมด้านการเมืองระหว่างประเทศที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์และบรรดาผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองระหว่างประเทศระบุว่า การเปลี่ยนยุทธศาสตร์เชิงนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือในคราวนั้นของรัฐบาลบารัค โอบามา มีแรงจูงใจหลักๆอยู่ด้วยกัน 2 ประการ
ประการแรกคือ ความต้องการของอเมริกาในการสกัดกั้น-ปิดล้อมสาธารณรัฐประชาชนจีนดินแดนคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลของตนเข้าสู่เอเชีย-แปซิฟิก เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยอเมริกาเพิ่งตระหนักได้ในภายหลัง (รู้ตัวช้า)ว่า อิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ “น่าเป็นห่วง” และเป็นการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลจีนในจังหวะเวลาที่อเมริกามัวแต่ “หันหลังให้เอเชีย” ในช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนแรงจูงใจประการที่สอง ที่นำไปสู่การเบนเข็มหันหัวเรือนโยบายของสหรัฐฯ สู่การปักหมุดในเอเชียนั้นคือการที่เอเชีย-แปซิฟิกมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ ทั้งในแง่ของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของจีดีพีที่พุ่งพรวด จนถูกขนานนามว่าเป็น “ศูนย์กลางแห่งใหม่ของเศรษฐกิจโลก” ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐอเมริกาที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในแบบเรื้อรังย่อมไม่ปรารถนาที่จะ “ตกขบวน” รถไฟสู่เอเชีย และนำไปสู่การประกาศหันหน้ามายังเอเชียในที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมาเพียงไม่กี่ปี หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ เริ่มตระหนักถึงความจริงที่ว่า นโยบายและการปรับยุทธศาสตร์เพื่อปักหมุดในเอเชียของสหรัฐฯนั้น มีอันต้องประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจาก สหรัฐฯนั้นได้หันหลังและละเลยเอเชียมานานเกินไป จนปล่อยให้จีนที่ค่อยๆแทรกซึมแผ่ขยายอิทธิพลของตนอย่างช้าๆเป็นฝ่ายที่สามารถ “ซื้อใจ” ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ไปได้แบบเต็มๆ โดยเฉพาะในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงสมัยที่สองของการบริหารประเทศของบารัค โอบามานั้น กลับปรากฏกว่าตัวแสดงหลักที่มีบทบาทต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯโดยตรงอย่างจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่ก้าวเข้ามารับหน้าที่แทนนางฮิลลารี คลินตัน กลับเลือกที่จะโฟกัสให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างออกนอกหน้า แทนที่จะสานต่อภารกิจปักหมุดในเอเชียที่นางคลินตันมีบทบาทริเริ่มไว้
ความไม่แน่ใจของชาติในเอเชียถึงบทบาทที่ “ผลุบๆโผล่ๆ” ของสหรัฐฯในเอเชียนี้เอง จึงทำให้หลายชาติคลายความตื่นเต้นต่อนโยบายปักหมุดนี้ และค่อยๆทยอยถอยห่างจากสหรัฐฯทีละก้าวเช่นกัน ยกเว้นในกรณีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ที่ยังคงเป็นพันธมิตรแนบแน่นของสหรัฐฯ และหวั่นเกรงภัยคุกคามจากจีน
เมื่อนโยบายปักหมุดในเอเชียมีอันต้องล้มเหลว และไม่ต่างจากความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญที่สหรัฐฯพลาดท่าเสียทีให้กับจีน บรรดาผู้มีส่วนกำหนดนโยบายในวอชิงตันจึงเริ่มดำเนินนโยบายแบบ “ไร้ทิศทาง” ในช่วงหลายปีมานี้ทั้งการกลับเข้าไปมีเอี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางอีกครั้ง ในกรณีสงครามกลางเมืองซีเรีย และการรับมือกับ “ศัตรูหน้าใหม่” อย่างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) รวมถึงการหันไป “หาเรื่องชวนทะเลาะ” กับรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน ที่ถูกสหรัฐฯกล่าวหาว่า ทำตัวเป็น “ภัยคุกคามสันติภาพโลก” จากกรณีวิกฤตการเมืองในยูเครน
ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไร้ทิศทางของโอบามายังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในกรณีที่วอชิงตันหันไปผูกไมตรีฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ “อดีตศัตรูตัวฉกาจ” อย่างคิวบา ที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรมานานเกินครึ่งศตวรรษ รวมถึง ความพยายามในการผ่อนปรนให้กับอิหร่านในเรื่องโครงการพัฒนา “นิวเคลียร์” จนพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯในตะวันออกกลางอย่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียประกาศว่า ถูกอเมริกาหักหลัง
ดังนั้น จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า หลังจากปี 2012 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯภายใต้รัฐบาลโอบามาได้ก้าวเข้าสู่ภาวะไร้ทิศทาง ไม่ต่างจาก “เรือที่ไร้หางเสือ” และถูกเปรียบเปรยว่าเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเหวี่ยงแห หลังจากที่ความพยายามในการ “ปักหมุดยูเอสเอ”ในเอเชียมีอันต้องล้มคว่ำไม่เป็นท่าและคงไม่ผิดนัก หากจะทิ้งท้ายว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถปักหมุดในเอเชียได้อย่างที่ตั้งใจแล้วยังดูเหมือนสหรัฐฯจะพลาดท่าปักเข็มหมุดนั้นใส่มือตัวเองเสียอีกต่างหาก และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯมิใช่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น