วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

สหรัฐฯ แถลง ประเทศไทยไม่ฉลาด – ไร้เหตุผล หลังวิษณุแจงเลือกตั้งได้เร็วสุด ก.พ. 59

สหรัฐฯ ออกมาตำหนิรัฐบาลไทยว่า “ไม่ฉลาด และไร้เหตุผลอันสมควร” หลังได้ทราบข้อมูลที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่ออุปทูตสหรัฐฯ วานนี้ (23 ธ.ค.) ว่า ไทยพร้อมจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้าบริหารประเทศหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เคยแถลงก่อนหน้านี้ว่าจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งจากช่วงปลายปี 2015 ออกไปจนถึงปี 2016 เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาพอที่จะดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และนำเสถียรภาพกลับคืนสู่บ้านเมืองที่แตกแยกเป็นฝักฝ่ายมานานนับสิบปี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนหลังพบกับอุปทูตสหรัฐฯ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟีย์ วานนี้ (23) เพื่อชี้แจงเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า “ผมแจ้งให้อุปทูตสหรัฐฯ ทราบวันนี้ว่า เราจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 แต่หากต้องมีการทำประชามติ (ว่าด้วยรัฐธรรมนูญใหม่) ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน”
สหรัฐฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับไทยมายาวนานได้แสดงความผิดหวังต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้น และสั่งระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงยกเลิกกำหนดการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตลอดจนปฏิบัติการฝึกซ้อมทั้งทางทหารและตำรวจ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า วอชิงตันยังเชื่อว่าคนไทยควรได้รับโอกาสใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย “โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
“เรามองว่าการเลื่อนเลือกตั้งไปจนถึงปี 2016 เป็นแนวคิดที่ไม่ฉลาด และไร้เหตุผลอันสมควร” โฆษกผู้นี้กล่าวเสริม
สัปดาห์ที่แล้ว สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อวานนี้ (23) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ออกมาปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวแล้ว
นักการทูตอาวุโสชาวตะวันตกคนหนึ่งเผยกับรอยเตอร์ว่า ตนไม่คาดหวังกับการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 มากนัก เพราะเกรงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะหาเหตุผลอื่นๆ มาอ้างเพื่อขอเลื่อนออกไปอีก
“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะยื้ออำนาจอยู่ 2-3 ปี” นักการทูตซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น