วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

ฝรั่งเศสเรียกร้องให้กรีซอยู่กับยูโรโซนต่อไป มีกระแสอยากลาออกสะพัด

เอเอฟพี – ประธานาธิบดีฝรั่งเศส “ฟรองซัวร์ โอลองด์” ได้ออกมาเรียกร้องต่อกรีซในวันนี้ (5 ม.ค.) ให้อยู่กับประชาคมยุโรปต่อไป หลังจากที่กระแสความหวั่นวิตกเรื่องที่กรีซจะออกจากยูโรโซนเริ่มกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง
“ชาวกรีกมีเสรีภาพที่จะเลือกกำหนดชะตาของตัวเอง แต่ถึงจะพูดอย่างนั้น มันก็ยังมีข้อตกลงบางอย่างที่ได้ทำกันไปแล้ว และแน่นอนว่าข้อตกลงเหล่านั้นควรที่จะได้รับการเคารพ” โอลองด์ บอกกับสถานีวิทยุฝรั่งเศส
การแสดงความเห็นของผู้นำฝรั่งเศสเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองรอบใหม่ในกรีซ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 25 มกราคมนี้ ซึ่งพรรคซีไรซา ที่เป็นพวกซ้ายจัดกำลังมีคะแนนความนิยมนำอยู่
โอลองด์ ยังได้ประกาศด้วยว่า เขาจะพูดคุยกับผู้นำเยอรมันในวันอาทิตย์ เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของยุโรป ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า การพบกันครั้งนี้จะมีขึ้นที่เมืองสตราสบูร์ก
ผู้นำฝรั่งเศสยอมรับว่าเขากับแมร์เคลไม่ค่อยจะมีทัศนะตรงกันสักเท่าไหร่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่ให้ความสนใจตรงกัน นั่นคือการทำให้ยุโรปเข้มแข็งขึ้น มีการตัดสินใจที่สมัครสมานสามัคคีกัน รวมถึงดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิดการเติบโตมากขึ้น
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ นิตยสาร “เดอร์ สปีเกล” ได้อ้างอิงคำพูดแหล่งข่าวในรัฐบาลเยอรมัน ที่ระบุว่า รัฐบาลเยอรมันมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่กรีซจะออกจากยูโรโซน หากพรรคซีไรซา ที่เป็นพวกซ้ายจัดชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม นางอังเกลา แมร์เคล นายกฯ กับ นายโวล์ฟกัง ชอยบ์เล รัฐมนตรีคลังของเยอรมัน ต่างก็เห็นตรงกันว่า การออกจากยูโรโซนของกรีซนั้นยังเป็นเรื่องที่พอจะรับมือไหว
ความสับสนวุ่นวายทางการเมืองและเรื่องกรีซจะโบกมือลาในช่วงที่ยูโรโซนกำลังเกิดวิกฤติ ได้ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงมากที่สุดในรอบ 9 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ในวันนี้ (5 ม.ค.)
ค่าเงินสกุลยูโรลดลงมาอยู่ที่ 1 ยูโรต่อ 1.1868 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2006 ก่อนที่จะเด้งกลับมาอยู่ที่ 1.1950 ดอลลาร์ นอกจากนี้บรรดาตลาดหุ้นในยุโรปต่างก็พบเจอกับแรงกดดันด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้ามาสนับสนุนการเงินให้กับกรีซเป็นจำนวนมหาศาลถึง 2 ครั้ง หลังจากประเทศนี้ได้สร้างหนี้สินท่วมหัวจนเกือบจะทำให้ยูโรโซนต้องหงายท้อง
ทั้งนี้ บรรดาสื่อในเยอรมันมองว่าบทความของ “เดอร์ สปีเกล” คือความพยายามของนายกฯ และรัฐมนตรีคลังเยอรมัน ที่ต้องการจะกดดันชาวกรีกและผู้นำของพรรคซีไรซา “อเล็กซิส ซิปรัส” ผู้ที่ให้คำมั่นว่าจะยุตินโยบายทางการเงินที่เข้มงวด หากพรรคของเขาชนะการเลือกตั้ง
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น