วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

กรณี “แอร์เอเชียตก” สะท้อนภัยจากการจราจรบนน่านฟ้า “หนาแน่น” ในยุคทองของธุรกิจการบินอาเซียน

ขณะบินอยู่บนน่านฟ้าที่เต็มไปด้วยพายุ กัปตันของเที่ยวบิน QZ8501 สายการบิน “แอร์เอเชีย” ได้ติดต่อไปยังหอบังคับการบิน เพื่อขอไต่เพดานบินหลีกหนีมวลเมฆ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตในทันที เนื่องจากสภาพการจราจรทางอากาศที่ความสูง 38,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลค่อนข้างหนาแน่น จากนั้นเพียงไม่นานอากาศยานลำนี้ก็อันตรธานหายไปจากจอเรดาร์
ในยามที่เจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าสืบหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องแอร์บัส A320-200 ตกในอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วาระสุดท้ายก่อนที่ QZ8501 จะประสบหายนะนั้นสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายจากการบินในภูมิภาค ที่ยังไม่มีการวางมาตรการความปลอดภัยเพียงพอ บนน่านฟ้าที่การจราจรคับคั่ง
เครื่องแอร์เอเชียดำดิ่งสู่ทะเลพร้อมลูกเรือและผู้โดยสารรวม 162 ชีวิต แต่จนถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้เพียง 51 ศพเท่านั้น ในขณะที่สามารถนำกล่องดำขึ้นมาได้แล้วทั้ง 2 ใบ และทีมนักประดาน้ำกำลังพยายามฝ่าทะลวงห้องโดยสาร เพื่อนำศพผู้เสียชีวิตออกมาเพิ่มเติม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในหมู่ภูมิภาคที่มีภาคธุรกิจการบินเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะสายการบินต่างๆ ในอินโดนีเซียที่กำลังขยายตัวกันอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น และประชาชนเริ่มยกฐานะขึ้นเป็นชนชั้นกลาง
ขณะที่เหล่าผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า สายการบินส่วนใหญ่มีประวัติด้านความปลอดภัยดีขึ้น พวกเขากล่าวว่า การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ผู้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการจัดการกับเครื่องบินที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นเป็นปัญหาที่น่าวิตก
*** ความกังวลด้านหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศ ***
นักวิเคราะห์บางส่วนเป็นกังวลถึงศักยภาพของระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ ถึงแม้จะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า หน่วยนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องแอร์เอเชียตก ขณะออกเดินทางจากเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย เพื่อมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม
การที่หน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศต้องแบกรับแรงกดดันมากเกินไปนั้นมีส่วนในเหตุเครื่องบินโดยสาร ซูคอยของรัสเซีย ตกที่เขาลูกหนึ่ง บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2012 จนเป็นผลให้คนบนเครื่องเสียชีวิตยกลำ 45 คน
แม้ว่าคนโดยมากจะชี้ว่า เหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อนเป็นความผิดของนักบินที่ละเลยสัญญาณเตือน จากระบบเตือนของเครื่องบิน แต่รายงานของพนักงานสืบสวนเหตุเครื่องบินตกระบุว่า ขณะเกิดเหตุหอบังคับการบินที่มีภาระหน้าที่มากมาย ในกรุงจาการ์ตากำลังพยายามติดต่อกับเครื่องบินพร้อมกันถึง 14 ลำ
นอกจากนี้ คนอื่นๆ ยังวิตกถึงละเลยความปลอดภัยจนกลายเป็นวัฒนธรรม พร้อมทั้งยกตัวอย่างอุบัติเหตุทางอากาศ ที่เวียดนามในปีที่แล้ว เมื่อเครื่องบิน 2 ลำหวิดประสานงาที่ท่าอากาศยานนครดานัง เมื่อเด็กฝึกงานถูกปล่อยให้รับผิดชอบหน้าที่ควบคุมการจราจรบนรันเวย์ที่หนาแน่น
อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งน่าเป็นกังวลไม่แพ้กันคือ ปัญหาการขาดแคลนนักบินที่ได้รับการฝึกหัด ในยามที่ธุรกิจสายการบินกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สายการบินต้นทุนต่ำ “ไลออนแอร์” ของแดนอิเหนาได้สั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหญ่ที่สุดในโลก สองฝูง เป็นมูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เกรก วาลดรอน ผู้อำนวยการบริหารเว็บไซต์ข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมการบิน “ไฟลท์โกลบอล” ชี้ว่า “เครื่องบินแต่ละลำนั้นต้องใช้นักบิน 5 ถึง 6 คน” ทำให้สถานการณ์ในตอนนี้ “มีความท้าทายอย่างแท้จริง”
แม้ว่ากัปตันซึ่งเป็นผู้ควบคุมเที่ยวบิน QZ8501 นั้นเป็นนักบินผู้มากประสบการณ์ ทั้งยังเคยขับเครื่องบินทหารมาแล้ว แต่การขาดการฝึกอบรมนักบินก็ยังคงถูกมองว่า เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งก่อนๆ เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของไลออนแอร์ เมื่อนักบินมือใหม่พยายามนำเครื่องลงจอดในสนามบินเมืองเดนปาซาร์ของเกาะบาหลี ทว่า เกิดพลาดไม่ได้แตะรันเวย์ แต่ไปลงในทะเลข้างๆ จนลำตัวเครื่องบินถึงกับหักกลาง แต่ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 108 คนยังสามารถรอดชีวิตมาได้
เหล่าผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า นอกจากนักบิน และหน่วยควบคุมการบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว อุตสาหกรรมการบินยังต้องการบุคลากรผู้มีประสบการณ์ทั่วทั้งภาคธุรกิจ นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบความปลอดภัย
ถึงแม้จะมีกระแสความกังวลเช่นนี้ แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญสำทับว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียสามารถรักษาประวัติความปลอดภัยในการบินได้ดีขึ้นอย่างมากมาย หลังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายระลอก
เมื่อปี 2007 สายการบินทุกเจ้าของแดนอิเหนาถูกสั่งห้ามไม่ให้บินเข้าชาติสมาชิกสภาพยุโรป (อียู) แต่ปัจจุบันนี้สายการบินเพียงไม่กี่เจ้า เช่น สายการบินประจำชาติอินโดนีเซีย “การูดา” และสายการบินในเครือแอร์เอเชีย ที่มีสำนักงานใหญ่ในมาเลเซีย ก็ได้รับอนุญาตให้สามารถบินเข้าสู่ยุโรปได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น