วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

เหตุกราดยิงสื่อดัง “ชาร์ลี เอ็บโด” กับบทสะท้อนกระแส “ต้านอิสลาม” ในยุโรป

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุก่อการร้ายช็อกโลกต่อสำนักงานของสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อดัง “ชาร์ลี เอ็บโด” ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งโลก เนื่องจากแทบไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า เหตุสะเทือนขวัญเช่นนี้จะมาเกิดขึ้นในเมืองหลวงของแดนน้ำหอม ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแดนอารยะและเป็นศูนย์กลางแห่งความศิวิไลซ์ที่สุด แห่งหนึ่งของมนุษย์โลก
เหตุช็อกโลกซึ่งก่อโดย 2 พี่น้องพลเมืองฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียอย่างซาอิด และเชริฟ กูอาชี ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทร อาระเบีย (Al-Qaeda in the Arabian Peninsula : AQAP) ซึ่งมีฐานอยู่ในเยเมนนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 12 ศพ รวมถึง สเตฟาน ชาร์กบงนิเยร์ บรรณาธิการของชาร์ลี เอ็บโด และยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 11 ราย
โดยมูลเหตุที่ไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝันครั้งนี้ ถูกระบุว่า มีความเกี่ยวข้องกับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อดังกล่าวที่ถูกมองว่าดูหมิ่น ศาสนาอิสลาม ซึ่งสร้างความไม่พอใจใหญ่หลวงในหมู่สมาชิกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั้งหลาย แม้หลายฝ่ายจะโต้แย้งว่า นี่คือ “เสรีภาพ” ในการทำงานของสื่อมวลชน
        แม้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสจะโชว์ผลงานปลิดชีพผู้ก่อเหตุที่มี แนวคิดสุดโต่งได้ในอีก 48 ชั่วโมงต่อมาหรือในวันที่ 9 มกราคม แต่เป็นที่แน่ชัดว่ามหาชนชาวเมืองน้ำหอมยังคง “รับไม่ได้” กับเหตุกราดยิงและสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด บนถนนนิโกลาส์-อัปแปร์ กลางมหานครปารีสที่ถือเป็นบ้านของประชากรมากกว่า 2.27 ล้านคน
เหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวไปสู่การเกิดปรากฏการณ์เดินขบวนแสดงพลัง ครั้งยิ่งใหญ่ หรือที่สื่อขนานนามให้เป็น “republican marches” ที่มีผู้เข้าร่วมสูงถึงกว่า 3.7 ล้านคนในเมืองต่างๆทั่วฝรั่งเศสในระหว่างวันที่ 10-11 มกราคมที่ผ่านมา รวมถึงในกรุงปารีสที่มีผู้นำจาก 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม (ยกเว้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งมิได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้)
การเดินขบวนแสดงพลังของประชาชน ตลอดจนผู้นำประเทศทั่วโลกดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการรวมตัวเคลื่อนไหวของสาธารณชนครั้งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 ซึ่งกรุงปารีสถูกปลดปล่อยจากการยึดครองของกองทัพนาซีเยอรมันในช่วงมหาสงคราม โลกครั้งที่ 2 และในอีกนัยหนึ่งก็มีผู้มองว่า การแสดงพลังนี้เป็นการพุ่งเป้าโดยตรงไปยังชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามที่ในเวลา นี้กลายเป็นเจ้าของภาพลักษณ์ว่า เป็นพวกชอบก่อความรุนแรงและไร้เหตุผล
นอกเหนือจากกรุงปารีสแล้ว ผู้คนในเมืองใหญ่ทั่วฝรั่งเศส ทั้งเมืองแรนน์ส ตูลูส ลียง บอร์กโดซ์ เกรอน็อบล์ มงต์เปลลิเยร์และมาร์กเซย์ต่างออกมาแสดงพลังต่อต้านการก่อการร้ายและความ รุนแรงอีกเป็นเรือนแสน ตลอดช่วงเวลา 2 วันที่เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว
ส่วนในประเทศอื่นๆ ต่างมีรายงานการออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์ของประชาชนในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่นครมอนทรีออลในแคนาดา , กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม , กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี , ตลอดจน กรุงอัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และกรุงเวียนนาของออสเตรีย
จากนั้นทางการฝรั่งเศสประกาศในวันจันทร์ (12 ม.ค.) ว่าจะเริ่มใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยสุดเข้ม ซึ่งไม่เคยกระทำมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์เมืองน้ำหอม นั่นคือการประกาศส่งกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวนกว่าหมื่นคนออกตระเวนดูแลความปลอดภัยและเฝ้าระวัง “จุดอ่อนไหว” ต่างๆที่อาจตกเป็นเป้าของการโจมตีของพวกมุสลิมสุดโต่ง และความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้น 24 ชั่วโมง หลังจากประชาชนทั่วแดนน้ำหอมรวมแล้วกว่า 4 ล้านคน ออกมาร่วมเดินขบวนรวมใจครั้งประวัติศาสตร์
ฌอง-อีฟส์ เลอ ดรีออง รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส ออกมาแถลงภายหลังการประชุมฉุกเฉินของคณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงในวันจันทร์ (12) โดยระบุว่า ที่ประชุมฯ ตัดสินใจเห็นชอบมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ ด้วยการส่งกำลังทหาร 10,000 คนออกมาดูแลสถานที่อ่อนไหวทั่วฝรั่งเศสตั้งแต่คืนวันอังคาร (13) เป็นต้นไป และการออกมาตรการเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการระดมทหารออกมาปฏิบัติ หน้าที่อย่างมากมายมหึมาในแดนน้ำหอมในยามสันติ
ขณะที่ แบร์กนาร์ด กาเซอเนิฟ รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ประกาศส่งกำลังตำรวจ 4,700 คน ไปรักษาความเรียบร้อยตามโรงเรียนของชาวยิวตลอดจนสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาว ยิวจำนวน 717 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลชุมชนชาวยิวในฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นแหล่งรวมชาวยิวมีขนาดใหญ่ที่สุดในชาติยุโรปด้วยกัน หวั่นตกเป็นเป้าโจมตีจากพวกมุสลิมสุดโต่ง
ข้ามฝั่งไปที่สหรัฐอเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่าสื่ออเมริกันหลายสำนักต่างพากันตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงเจ้าของรางวัล “โนเบลสาขาสันติภาพ” เมื่อปี 2009 จึงไม่เดินทางไปร่วมแสดงพลังในปารีส แถมยังไม่ยอมส่งคณะบริหารอาวุโส เช่น รองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน หรือรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าง จอห์น เคร์รี ไปแทน
สื่อดังอย่าง “ซีเอ็นเอ็น” วิจารณ์คำโตว่า สหรัฐอเมริกาทำผิดพลาดครั้งใหญ่ ขณะที่คณะบรรณาธิการของ “ฟ็อกซ์ นิว” ทวิต ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์โดยระบุเพียงสั้นๆว่า พฤติกรรมของโอบามาในครั้งนี้ “น่าขายหน้า”
ขณะที่นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งเคยรณรงค์เพื่อเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ทวิตข้อความว่า “น่าเศร้าที่ผู้นำ 50 ชาติทั่วโลกต่างแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในปารีส แต่ทว่าโอบามากลับปฏิเสธไม่ไปเข้าร่วม โอบามายังคงเป็นผู้นำที่ขี้ขลาดเช่นเดิม”
ด้านทำเนียบขาวยังคงนิ่งเงียบโดยมิได้ออกมาโต้ตอบใดๆเรื่องนี้ ขณะที่ตัวโอบามานั้นได้ออกมาประกาศสนับสนุนฝรั่งเศสด้วยถ้อยคำสวยหรูว่า “ผมอยากให้ประชาชนฝรั่งเศสรับรู้ว่า สหรัฐอเมริกาจะยืนหยัดเคียงข้างฝรั่งเศส ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า”
ย้อนกลับไปที่ฝรั่งเศส ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากแห่กันไปยืนต่อคิวหน้าร้านขาย หนังสือตั้งแต่เช้ามืดเพื่อรอซื้อนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด เล่มใหม่ซึ่งวางแผงเมื่อวันพุธ(14) เป็นฉบับแรก หลังจากกองบรรณาธิการถูกมือปืนอิสลามิสต์สังหารหมู่ จนหลายแผงขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่กี่นาที
พนักงานหญิงรายหนึ่งประจำร้านหนังสือพิมพ์ใจกลางกรุงปารีสยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ที่จะมีลูกค้าประมาณ 60-70 คนมายืนต่อคิวรอซื้อหนังสือตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด
        ทั้งนี้ นิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับใหม่ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นฉบับ “ผู้รอดชีวิต” นี้ ถูกตีพิมพ์รวมทั้งสิ้น 3,000,000 เล่ม ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากปกติที่จะตีพิมพ์เพียงฉบับละ 60,000 เล่มเท่านั้น โดยทีมงานประกาศจะมอบกำไรจากการจำหน่ายให้แก่ครอบครัวของคณะกองบรรณาธิการ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 7 มกราคม ขณะที่ภาพปกของฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดที่ถือ ป้าย “ฉันคือชาร์ลี” (Je suis Charlie) พร้อมข้อความพาดหัวว่า “ให้อภัยหมดแล้ว” ซึ่งแน่นอนว่า การทำเช่นนี้ย่อมเรียกเสียงติเตียนเพิ่มเติมจากองค์กรมุสลิมในบางประเทศที่ มีจุดยืนต่อต้านการวาดภาพศาสดาศาสนาอิสลามทุกรูปแบบ
ล่าสุด เวโรนิก โฟฌูร์ ผู้อำนวยการบริษัทจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ MLP ได้ออกมาระบุว่า นิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับผู้รอดชีวิตจะเพิ่มจำนวนตีพิมพ์เป็น 5,000,000 ฉบับ หลังกระแสตอบรับดีเกินคาด และคาดว่านิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับใหม่นี้จะวางแผงครบทั่วทุกเมืองในฝรั่งเศสภายในช่วงปลายสัปดาห์
ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโดเมื่อ 7 มกราคมได้ปลุกกระแสต่อต้านชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามในยุโรปให้โหมกระพือแรง ขึ้นไปอีก จากที่กระแสดังกล่าวเริ่มก่อตัวสั่งสมมาอย่างช้าๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการถือกำเนิดของกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกตนเองว่า กลุ่มชาวยุโรปรักชาติ ผู้ต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรแห่งตะวันตก” (Patriotic Europeans Against the Islamization of the West) หรือ PEGIDA ซึ่งล่าสุดมีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วยุโรปหลายหมื่นคนหรืออาจเป็นเรือนแสน โดยเฉพาะในเยอรมนี ทั้งที่เมื่อแรกก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน กลุ่มเคลื่อนไหวนี้เพิ่งมีผู้เข้าร่วมเพียงแค่หลักร้อย
ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด นอกจากจะสร้างความสูญเสียทั้งในแง่ของชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนคุกคามการทำหน้าที่อย่างเสรีของสื่อมวลชนแล้ว เหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในยุโรปกำลังมองศาสนาอิสลามและกลุ่มชาวมุสลิมในแผ่นดินของตนเป็น “ภัยคุกคามใหม่” ที่ทำให้เกิดรอยแยกทางสังคมและเป็นต้นตอของความรุนแรง ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งที่รัฐบาลของประเทศต่างๆในยุโรป ต้องหาทางรับมือกันต่อไปในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น