วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ไต้ฝุ่น “ฮากูปิ๊ต” อ่อนกำลังหลังขึ้นฝั่ง

เอเจนซีส์ – ไต้ฝุ่น “ฮากูปิ๊ต” ขึ้นฝั่งกระหน่ำใส่บริเวณตอนกลางของฟิลิปปินส์ในตอนดึกวันเสาร์ (6 ธ.ค.) ทำต้นไม้ล้มระเนระนาด กระแสไฟฟ้าดับ บางพื้นที่การสื่อสารถูกตัดขาด และผู้คนเกือบ 900,000 คนต้องอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คน  แต่ไม่มีความเสียหายรุนแรง สืบเนื่องจากทางการฟิลิปปินส์เตรียมตัวตั้งรับอย่างดี ขณะที่พายุลูกนี้อ่อนแรงลงบ้างแล้ว แต่ยังประมาทไม่ได้ โดยกำลังเคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่ 3 เกาะสำคัญของแดนตากาล็อก ก่อนจะออกสู่ทะเลจีนใต้ในวันอังคาร (9)
หลังจาก “ฮากูปิ๊ต” ขึ้นฝั่งที่จังหวัดอีสเทิร์น ซามาร์ และเคลื่อนผ่านจังหวัดที่เป็นเกาะอื่นๆ ในบริเวณนั้น สภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป คือมีน้ำท่วมในระดับตื้นๆ บ้านเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นกระท่อมเสียหาย ป้ายห้างร้านและหลังคาสังกะสีหลุดหาย ทว่าไม่มีรายงานยืนยันว่าเกิดความเสียหายขนาดใหญ่ใดๆ
พวกเจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาระบุว่า เมื่อถึงวันอาทิตย์ (7) ไต้ฝุ่นลูกนี้มีความเร็วลมสูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความแรงลม 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าอ่อนกำลังลงจากระดับสูงสุด แต่ยังมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้มาก
ประชาชนจำนวนเกือบ 900,000 คนที่ยังหวาดผวาไต้ฝุ่นมหาภัย “ไห่เอี้ยน” ซึ่งทำให้ชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิตหลายพันคนเมื่อปีที่แล้ว พากันอพยพไปยังศูนย์พักพิงฉุกเฉินราว 1,000 แห่งและพื้นที่ปลอดภัยอื่นๆ หลังจากรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทหาร 120,000 นาย ประกาศเตรียมพร้อมครั้งใหญ่ตามเป้าหมายป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากไต้ฝุ่นฮากูปิ๊ตแม้แต่คนเดียว
ประเทศต่างๆ ราวสิบประเทศนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติรุนแรง โดยอียูนั้นเตรียมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยประเมินความเสียหายและมาตรการรับมือที่จำเป็น พร้อมแสดงความหวังว่า ไต้ฝุ่นฮากูปิ๊ตจะไม่รุนแรงเท่าไห่เอี้ยน
ที่ผ่านมาในแต่ละปี ฟิลิปปินส์ต้องรับมือพายุใหญ่ประมาณ 20 ลูก ไม่รวมแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำ จึงถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรงที่สุดของโลก
มนุษย์เริ่มตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น  และรุนแรงขึ้น อาจจะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก  ในระหว่างการหารือเรื่องภาวะโลกร้อนที่เปรู นักเคลื่อนไหวตากาล็อกจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูด โดยชี้ว่า ความถี่ในการเกิดไต้ฝุ่นจุดชนวนการถกเถียงในฟิลิปปินส์ว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือมนุษย์หรือไม่
แจสเปอร์ อินเวนเตอร์จากกลุ่มกรีนพีซ ร่วมเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองจะสนับสนุนการแสดงออกที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการดำเนินการที่แท้จริงในที่ประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติ เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นความอยู่รอดของมนุษยชาติ
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น