วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความรู้เรื่องโป๊ยกั๊กเพิ่มพลังภูมิคุ้มกันโรค

สมุนไพรรูปดาวแปดแฉกชื่อ โป๊ยกั๊ก (โป๊ย=แปด, กั๊ก=แฉก) หรือที่หมอยาไทยเรียกว่าจันทน์แปดกลีบนั้น เคยโด่งดังเมื่อครั้งที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดเมื่อ 3 ปีก่อน
เพราะบริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่างโรช (Roche) ได้กว้านซื้อยาโป๊ยกั๊ก เกือบหมดประเทศจีน เพื่อนำเมล็ดมาสกัดเอากรดชิคิมิค ( shikimic acid) อันเป็นสารตั้งต้นสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ยาที่มีทามิฟลู (Tamiflu) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด รวมทั้งไวรัสต้านไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ 2009 ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกได้เก็บสำรองยา ทามิฟลู ไว้รับมือกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกซึ่งอาจระบาดขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้
โป๊ยกั๊กที่ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารและใช้ทำยาในที่นี้คือ สมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า illicium verum ซึ่งทั่วโลกรู้จักกันดีในชื่อว่า โป๊ยกั๊กจีน (Chinese star anise) หรือมีชื่อในภาษาอาหรับว่า บาเดียน (badian) ชาวอินเดียเรียกว่า บาเดียนคาไต(badian khatai) และในแหลมมาลายูแถบมาเลเชีย อินโดนีเชียเรียกว่า บุหงาลาหวัง (bunga lawang) ซึ่งต้องจดจำให้ดีว่าเป็นคนละชนิดกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่น (Japanese star anise) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ illicium anisatum ซึ่งถ้ากินเข้าไปมากอาจมีพิษถึงตาย เนื่องจากมีสารพิษอนิซาติน (anisatin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรงและทำให้เกิดอาการอักเสบในไต ท่อปัสสาวะรวมทั้งในอวัยวะในระบบย่อยอาหารด้วย โดยปกติโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นเขานำมาทำเป็นธูปกำยานในพิธีกรรม ห้ามนำมาบริโภคโดยเด็ดขาด
โชคดีที่โป๊ยกั๊กที่นำเข้าประเทศไทยเป็นโป๊ยกั๊กจากจีนซึ่งไม่ปรากฏว่ามีพิษ เพราะสารอนีโทล (anethole) ในน้ำมันโป๊ยกั๊กจีนนั้นสามารถเข้าเนื้อหลายชนิดในเมนูอาหารจีน เช่น เนื้อเป็ด ห่านไก่ หมู วัวและแพะ สำหรับครัวไทยนั้นเราได้สูตรทำน้ำพะโล้ น้ำก๋วยจั๊บ ใส่โป๊ยกั๊กจีนมานานแล้ว ในเครื่องแกงกะหรี่หรือมัสมั่นของชาวอาหรับอินเดีย และชาวแหลมมาลายูก็มีโป๊ยกั๊กจีนเป็นเครื่องชูรสชูกลิ่นที่สำคัญ
นอกจากนี้ผงโป๊ยกั๊กยังนำมาใช้แต่งกลิ่น เครื่องดื่ม ขนมผิง ขนมเค้ก ลูกกวาด แยม เยลลี่ ซีอิ๊ว ซ้อสต่างๆ เนื้อกระป๋อง ฯลฯ อีกด้วย
ดังนั้น  ที่เคยกลัวกันว่าทารกหรือเด็กเล็กที่ดื่มน้ำชงสมุนไพรโป๊ยกั๊กอาจได้รับพิษนั้น น่าจะเป็นพิษจากโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการถูกพิษจากโป๊ยกั๊กที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อจำเป็นต้องนำมาใช้ก็ควรใช้เป็นยาขนาดในปริมาณที่พอดีๆ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก
ปัจจุบันมีงานวิจัยทั่วโลกรับรองสรรพคุณทางยามากมายของโป๊ยกั๊กจีน แต่สรรพคุณหลักๆ ได้แก่ ช่วยระงับความเจ็บปวด รักษาการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด แก้หวัดลดไข้ ช่วยรักษาโรครูมาติสม์ ระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว แก้ตะคริว เหน็บชาตามปลายมือปลายเท้า ที่สำคัญคือช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้กับกล้ามเนื้อและเพิ่มภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้เพราะมีรายงานการวิจัยว่าโป๊ยกั๊กอุดมด้วยวิตามินและธาตุอาหารเสริมหลายชนิดที่ทรงคุณค่าต่อสุขภาพ กล่าวคือใน 100 กรัมของโป๊ยกั๊กจะประกอบด้วยวิตามินเอ 10.5% วิตามินซี 35% ใยอาหารถึง 38% โปรตีน 31% คาร์โบไฮเดรต31% เกลือแร่เช่นโปแตสเซียม 31% ในขณะที่มีโซเดียมเพียง 1% เท่านั้น
อย่างไรก็ตามความสำคัญอยู่ที่โป๊ยกั๊กมีธาตุแคลเซียมเสริมกระดูกอยู่ถึง 65% และมีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิตอยู่ถึง 462% ทั้งนี้โดยไม่มีไขมันคอเลสเตอรอลปรากฏอยู่เลย
ในภาวะที่อากาศเย็นชื้นในช่วงฤดูฝนอีกยาวนาน ร่างกายของคนเราโดยเฉพาะเด็กเล็กอาจจะมีภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น เป็นไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน หรือแม้กระทั่งเป็นโรคมือเท้าปากซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร แต่มีอาการเหมือนโรคในระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจากโป๊ยกั๊กเป็นยาจีนที่มีคุณสมบัติเป็น “หยาง” คือ เป็นธาตุอุ่น มีรสร้อนนิดเจือหวานหน่อย ไม่เย็นเหมือนฟ้าทะลายโจรหรือผักทั่วไป และไม่เผ็ดร้อนเหมือนพริกหรือพริกไทย จึงช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงอากาศเย็นชื้นยามฝน
วิธีใช้  ผู้ใหญ่ใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา ชงกับน้ำสุกอุ่น 1 ถ้วยกาแฟ (30ซีซี) ดื่มเวลาเช้าหรือเย็นหลังอาหารในช่วงอากาศเย็น เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและช่วยย่อยอาหาร
สำหรับผู้ที่เป็นโรครูมาติสม์หรือปวดหลังปวดเอวเรื้อรัง  ให้ชงผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชาละลายน้ำอุ่นๆ ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
สำหรับเด็กเล็กควรใช้ผงสมุนไพร 4 ช้อนชาชงกับน้ำสุกอุ่น 1 ช้อนโต๊ะ (15ซีซี) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนหรือในยามที่มีอากาศเย็นชื้น หากเด็กเล็กมากให้ใช้น้ำมันโป๊ยกั๊กทาฝ่าเท้าเพื่อให้ฝ่าเท้าอุ่นเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ดีนักแล
StarAn-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น