วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

E.ON กิจการพลังงานยักษ์ใหญ่เยอรมันประกาศทุ่มเทให้ “พลังงานสะอาด”

เอเจนซีส์ – เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 พ.ย.) “E.ON” กิจการด้านสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีได้ประกาศแผนแยกบริษัทเป็น 2 ส่วน เพื่อมุ่งเน้นการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่ที่บ่งชี้ว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคสาธารณูปโภค ในระดับกว้างขวางออกไปอีก
E.ON จะแยกธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ออกไปเป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งยังไม่มีชื่อ โดยนับเป็นความพยายามในการรับมือตลาดพลังงานที่กำลังเปลี่ยนผันชนิดปฏิวัติวงการ โดยเฉพาะในยามที่ได้รับแรงกดดันจากกระแสเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในเยอรมัน ประเทศแรกที่ประกาศมีเวลาเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ที่จะเลิกใช้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น บริษัทนี้บอกบรรดาผู้ถือหุ้นว่า จะมุ่งเน้นขยายธุรกิจพลังงานลมในยุโรป และตลาดเป้าหมายอื่นๆ นอกจากนั้น E.ON ยังจะเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย
นอกจากนี้ E.ON ยังจะให้ความสำคัญกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการกระจายการผลิตพลังงาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน และเปิดทางให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วม และได้รับโอกาสมากขึ้น
ด้วยสัดส่วนลูกค้าราว 33 ล้านคน E.ON มีแผนจะเพิ่มเงินลงทุนในปีหน้าอีกราว 500 ล้านยูโร จากเดิมที่เคยวางแผนไว้ก่อนหน้านี้ 4.3 พันล้านยูโร หรือ 5.4 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้ยืนยันว่า การแยกกิจการจะไม่ส่งผลให้ลูกจ้าง 60,000 คนของบริษัทตกงาน และจะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนแก่สองบริษัท ด้วยการหันเร่งใช้ประโยชน์แหล่งพลังงานทางเลือกแห่งใหม่ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสให้แก่คณะผู้ควบคุมตรวจสอบ
บริษัทกล่าวว่า ในยามที่ตลาดคาร์บอนโลก และนโยบายซื้อขายคาร์บอนเครดิตของสหภาพยุโรปกำลังถูกรื้อฟื้นกลับมาใช้ใหม่ โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่เทคโนโลยีก้าวหน้านั้นฉายแววรุ่งโรจน์
กิจการสาธารณูปโภคของเยอรมันได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง จากการที่ทั่วยุโรปกำลังระดมความพยายามเดินหน้าสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อรับมือกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในเวลาที่พลังงานหมุนเวียนในหลายพื้นที่เริ่มมีต้นทุนต่ำ ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ เป็นผลให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งเริ่มไม่ได้กำไร แนวโน้มนี้จึงมีวี่แววที่จะไปได้สวย ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฤดูหนาวหน้า และอียูประกาศมาตรการเพิ่มพลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030
ปัจจุบันนี้ เยอรมนีมีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ 35 กิกะวัตต์ และพลังงาน 30 กิกะวัตต์ ประเทศนี้ให้คำมั่นว่า จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากในปี 1990 ลงอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2050
โยฮันเนส ไทเซิน ผู้อำนวยการบริหาร E.ได้เอ่ยถึงการตัดสินใจดังกล่าว โดยระบุว่า “เมื่อไม่นานมานี้ โครงสร้างธุรกิจพลังงานมีลักษณะค่อนข้างเป็นเส้นตรง”
ห่วงโซ่มูลค่าที่เหยียดตรงออกมาจากบ่อน้ำมัน, แหล่งก๊าซ และโรงไฟฟ้า ต่อตรงไปยังสายส่ง, ตลาดขายส่ง และผู้บริโภค … อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกใบใหม่ก็เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน โลกที่ถูกมองว่าอยู่เหนือนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และความคาดหวังของผู้บริโภคเอง มีการทุ่มเงินลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากกว่าเทคโนโลยีการผลิตพลังงานด้านอื่นๆ ทำให้แนวโน้มนี้จะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น แทนที่จะเลือนหายไป
แนวโน้มหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นคือการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานพลังงานและก๊าซทั่วๆ ไปลงไปได้มาก
ผลการศึกษาของนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน 2 คนที่นำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เยอรมนีจะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และสร้างเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ ด้วยรูปแบบที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ พวกเขาพบว่า เยอรมนีจะต้องทุ่มเงินลงทุน 4.7 แสนล้านยูโร ให้กับแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหญ่ๆ ทั้งหมดในช่วง 35 ปีข้างหน้า เพื่อดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม   อย่างไรก็ตาม การลงทุนนี้จะช่วยประหยัดเงิน 6.6 แสนล้านยูโร จากการหลีกเลี่ยงค่าเชื้อเพลิงในอัตราคงที่ และอาจช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่านั้น หากค่านำมันขยับสูงขึ้นปีละ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์
 windEn-5-12-2014
ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น